ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร (วัดกลางนคร) พร้อมนายวิเชียร   จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ผู้แทนส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือการจัดสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งที่ 1/2561 ในวาระนำเสนอรายละเอียด รูปแบบการดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและแนวทางปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ภายในวัดพระนารายณ์ ฯ เพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้สร้างวัดพระนารายณ์ ฯ  เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2199 สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองโคราช
               นายวิเชียร ฯ ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้เป็นขั้นตอนการเสนอค่าใช้จ่ายการดำเนินการจัดสร้างปฏิมากรรมพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีขนาดความสูง 4 เมตร พร้อมแท่นวางประติมากรรมสูง 3.7 เมตร รวมทั้งแนวทางปรับปรุงตกแต่งภูมิทัศน์ ทางเดินเท้าพื้นที่ขนาด 1,200 ตร.ม. การติดตั้งระบบน้ำประปาและไฟฟ้าส่องสว่างรวมทั้งการรื้อถอนอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น จำนวน 10 คูหา บริเวณทางเข้าวัด ฯ ด้านถนนประจักษ์ เพื่อเชื่อมต่อศาลหลักเมือง โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายพร้อมศึกษาผลกระทบ
                จากการดำเนินงาน เพื่อให้การออกแบบและการจัดสร้างฯ มีความเหมาะสมที่สุด สอดรับกับแผนพัฒนาผังเมือง นำไปสู่การจัดทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากรพิจารณาความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ได้พิจารณาจัดทำรูปหล่อและเหรียญให้เช่าบูชาเพื่อหารายได้สมทบทุนการจัดสร้างฯ รวมทั้งกำหนดปฏิทินดำเนินงานให้ทุกฝ่ายทราบภาระหน้าที่และประสานงานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
             ด้านพระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยแนวทางการพัฒนาศาลหลักเมืองซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดพระนารายณ์ ว่า สืบเนื่องจากจากโยมผู้เช่าที่ดินของวัดได้คืนสิทธิ์การครอบครองที่หมดสัญญาในปี 2564 โดยมีความต้องการให้เกิดพื้นที่เพิ่มเติมบริเวณด้านทิศเหนือของศาลหลักเมือง คณะกรรมการวัดฯ ได้ปรึกษาหารือร่วมคณะกรรมการศาลหลักเมืองและนายวิเชียร ฯ ผวจ.นครราชสีมา รวมทั้งหัวหนาส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมสภาพอาคาร ในการเตรียมรื้อถอนอาคาร เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เดินทางมากราบไหว้ สักการะศาลหลักเมืองได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเห็นทัศนียภาพที่สวยงาม สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่วัดพระนารายณ์ ฯ สามารถประกอบกิจกรรมระหว่างวัดและศาลหลักเมืองได้สะดวกคล่องตัวกว่าเดิมที่ต้องเดินอ้อมไปทางด้านหลัง
อาตมาขอแจ้งให้ผู้เช่าพื้นที่วัด ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ หากรายใดครบกำหนดสัญญาเช่าตามกฎหมาย โปรดคืนพื้นที่ให้วัด โดยเฉพาะบริเวณถนนประจักษ์หรือด้านทิศตะวันตก เพื่อก่อสร้างกำแพงวัดฯ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามรองรับการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้สมเกียรติและเป็นแลนด์มาร์คของโคราช
นอกจากนี้ยังจัดสร้างพื้นที่บรรจุอัฐิธาตุของท้าวสุรนารี (ย่าโม) ตรงมุมทิศพายัพหรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากประวัติที่สืบค้น เมื่อปี พ.ศ. 2477 ได้ย้ายอัฐิธาตุย่าโมออกจากวัดไปประดิษฐานที่ประตูชุมพลจนทุกวันนี้ กรรมการวัด ฯ จึงขอคืนพื้นที่เพื่อบูรณะรักษาพื้นที่ประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เห็นความสำคัญของย่าโม วีรสตรีกู้ชาติ หากเปิดพื้นที่ตามแผนที่กำหนดไว้ จะเห็นความงดงามของศาลหลักเมือง เจดีย์วัด ฯ และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชรวมทั้งพื้นที่ประวัติศาสตร์ท้าวสุรนารี เชื่อจะเกิดความแตกต่างไปจากเดิมซึ่งที่ผ่านมามีอาคารพาณิชย์บดบังทัศนียภาพ
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์ ฯ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางใจเมืองติดกลับศาลหลักเมือง สมัยโบราณเรียกว่า “ วัดกลาง ” หรือ “ วัดกลางนครโคราช วรวิหาร ” โดยถือเอาวัดพระนารายณ์ ฯ เป็นศูนย์กลาง รายล้อมด้วยวัดอื่น ๆ ตามที่ตั้งอยู่ทิศต่าง ๆ ตามชื่อทิศ เช่น วัดบูรพ์ (บูรพา) วัดอิสาน วัดพายัพและวัดบึง วัดสระแก้ว รวม 6 วัด ที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองโคราช วัดกลางนคร จัดเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในสมัยก่อนมีพิธีที่ข้าราชการทุกแผนกจะต้องสาบานตนว่าจะต้องรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พิธีนี้เรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาทางราชการได้ใช้วัดพระนารายณ์มหาราช ฯ เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี รวมทั้งให้เป็นสถานที่ทำพิธีสวดเสกน้ำพระพุทธมนต์ถวายในงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติ ปัจจุบันวัดพระนารยณ์ ยังมีศิลปะวัตถุพร้อมทั้งแบบสถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยาและปูชนียสถาน ประกอบด้วย พระอุโบสถที่ตั้งอยู่เกาะกลางสระบัวทิศตะวันออกของวัด พระวิหารหลวงและเทวรูปพระนารายณ์สี่กร จำหลักด้วยหินทรายฝีมือขอมโบราณอันเป็นสัญลักษณ์แสดงพระนามผู้สร้างวัด