โคราชพบพืชหายากครั้งแรก

พืชป่าหายากเสี่ยงสูญพันธุ์ตั้งชื่อ ‘แจงสุรนารี’

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ-มทส.) คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนาร (มทส.) นครราชสีมา แถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกและค้นพบครั้งแรกในพื้นที่จ.นครราชสีมา


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนาร (มทส.) ได้เป็นประธานการแถลงข่าว การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก และค้นพบครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยทีมนักวิจัยศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-มทส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย เจริญเติบโตช้า พบในป่าเบญจพรรณแล้ง ถือเป็นพืชป่าเฉพาะถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตั้งชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า “Maerua koratensis Srisnga & Watthana” และมีชื่อไทยว่า “แจงสุรนารี”
เพื่อระลึกถึงท้าวสุรนารี และเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยได้รับการตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกนี้ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa เรียบร้อยแล้ว ในโอกาสนี้ อพ.สธ.-มทส. ได้การส่งมอบต้นกล้า “แจงสุรนารี” จำนวน 50 ต้น แก่นางรัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา พร้อมลงพื้นที่ปลูกต้นกล้าเพื่อขยายพันธุ์เข้าสู่พื้นที่ปกปักเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปตามธรรมชาติ