เล่าขานประวัติศาสตร์ นครราชสีมาผ่านนามสกุลคนโคราช”

วัฒนธรรมจังหวัด นครราชสีมา

วันที่  22 ธันวาคม 2564 ท่านจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัด, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในพิธีเปิดการเสวนาของสภาวัฒนธรรมจังหวัด “การเล่าขานประวัติศาสตร์นครราชสีมา : ผ่านนามสกุลคนโคราช”

 การเสวนาครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โครงการเล่าขานประวัติศาสตร์นครราชสีมา : ผ่านนามสกุลคนโคราช” ซึ่งสภาวัฒนธรรมจังหวัดได้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนามสกุลคนโคราชว่ามีนามสกุลใดบ้าง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสภาวัฒนธรรมอำเภอ ในเบื้องต้นได้สืบค้นและทำการสัมภาษณ์คนโคราช 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง  อำเภอปักธงชัย อำเภอโนนไทย อำเภอสูงเนิน อำเภอสีคิ้ว อำเภอโชคชัย อำเภอจักราช อำเภอพิมาย อำเภอโนนสูง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอครบุรี และอำเภอด่านขุนทด โดยข้อมูลครอบคลุมถึง ประวัติความเป็นมา ชาติพันธุ์ อาชีพ และภูมิลำเนาเดิมของบรรพบุรุษ ตลอดจนความภาคภูมิใจในนามสกุลของคนโคราช นอกจากนี้ยังได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น การละเล่นพื้นเมือง และของดีประจำตำบลในแต่ละพื้นที่ด้วย

 สภาวัฒนธรรมจังหวัด ได้เล็งเห็นความสำคัญของการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อใช้ในการประสานคนโคราชให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่มีความเข้มแข็งมั่นคง และสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้จัดเสาวนาในวันนี้ โดยเชิญผู้เข้าร่วมเสวนาจากอำเภอต่างๆ ได้รับเกียรติ นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา, นายไชยนันท์ แสงทองวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา, ดร.สมศักดิ์ ชาญสูงเนิน, รศ.ดร.จำเริญรัก จิตต์จิรจรรย์, ว่าที่ร้อยตรีสมชายรักกลาง และ นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ และคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.จิตนภาสมบูรณ์ศิลป์ หัวหน้าโครงการกล่าวรายงาน

 นาย จําลอง ครุฑขุนทด ท่านประธานกรรมการจัดงานเสวนา คณะกรรมการจัดงานกล่าวเปิดท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการเสวนาทุกท่าน

 ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดการเสวนา “การเล่าขานประวัติศาสตร์นครราชสีมา : ผ่านนามสกุลคนโคราช” ขอขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมที่ท่านทั้งหลายเล็งเห็นถึงความสำคัญและทำการรวบรวมข้อมูลนามสกุลคนโคราชนี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของคนโคราชในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ที่บางแห่งอาจจะลบเลือนไป แต่บางแห่งก็ยังได้ถือปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังเอื้อต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนโคราชร่วมกันต่อไปในอนาคต อันจะประโยชน์เพื่อการต่อยอดในการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ1 มี 32 อำเภอ และมีประชากรกว่า 2 ล้าน 6 แสนคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ดังนั้นการที่ท่านทั้งหลายมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการรวบรวมข้อมูลจาก 12 อำเภอ นำร่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีและควรค่าแก่การสนับสนุน ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านรวบรวมข้อมูลต่อไปในครบทั้ง 32 อำเภอ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์เป็นข้อมูลประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อยอดสืบสาน วัฒนธรรมโคราชต่อไป