ประชาชนโคราช!!แห่ฟังและเสนอแบบสถานีไม่สะใจวัยรุ่นในการจัดเวทีเสวนาแนะนำโครงการ และรับฟังข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย
วันที่ 5 กันยายน 2561 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดโครงการ การศึกษาผลกระทบทางสังคมจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย กิจกรรม : การจัดเวทีเสวนาแนะนำโครงการ และรับฟังข้อเสนอแนะ ณ หอประชุมอนุสรณ์ 70 ปี โดยได้รับเกียรติจาก
นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดี กล่าว พลโทจเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกสภานิติบัณฑิตแห่งชาติ และ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม
โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย โดย นายธนพล จรัลวณิชวงศ์ พร้อมด้วย นายพณา ศุภฐิติพงศ์ สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อาจารย์ทศวรรณ นิจพาณิชย์ นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ ที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายปราการ ภูมิผล วิศวกรโครงการ
การจัดโครงการการศึกษาผลกระทบทางสังคมฯ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบาย
ดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ระยะทาง 837 กิโลเมตร ที่เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน บริเวณสถานีรถไฟ จังหวัด และอำเภอที่สถานีรถไฟตั้งอยู่
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น สนับสนุนโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ทำการศึกษา
วิจัยผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-หนองคาย 5 ประเด็นหลัก คือ สถานภาพปัจจุบัน (Existing Condition) ของพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่าน และบริเวณโดยรอบสถานี
ผลกระทบด้านการก่อสร้างและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบด้านการค้าการลงทุน ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและบริการ และ ผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายประชากร โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดและอำเภอตลอดเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านและบริเวณที่สถานีรถไฟตั้งอยู่ ทั้งการสอบถาม สัมภาษณ์ จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus Group) รวมทั้งการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น เพื่อประมวลผลข้อมูลในภาพรวม พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน และจัดเตรียมมาตรการรับรองผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต ปิดท้ายด้วยการเปิดเวทีเสวนาซักถามและรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินโครงการ