“ตำนานสะพานดำ อนุสรณ์สถานไม้กลายหิน ณ สถานีรถไฟแห่งบ้านท่าช้าง”

สถานนีรถไฟท่าช้างแห่งนี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2464 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจการก่อสร้างสถานีรถไฟแห่งนี้ จากหลักฐานในอดีต เดิมทีอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นชุมชนโบราณริมแม่น้ำมูล เรียกว่าหมู่บ้านท่าช้าง มีความเจริญเป็นเมืองท่าของมณฑลนครราชสีมา ขนถ่ายสินค้าจากเรือกลไฟ ต่อมามีการสร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯมาที่นครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้สร้างทางรถไฟขยายจากนครราชสีมาจนถึงอุบลราชธานี จึงได้กลายมาเป็นสถานีรถไฟท่าช้างที่มีการตั้งชุมชนหนาแน่น

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการของที่นี้ประมาณ พ.ศ.2464 ได้มีชาวบ้านท่าช้างนำไม้กลายเป็นหินจากลำน้ำมูลไปถวายรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงแนะนำให้ราษฎรเก็บรักษาไว้ในท้องถิ่น ทางกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม จึงนำไม้กลายเป็นหินประดับไว้บนอนุสรณ์สถาน ณ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำมูล ตรงจุดที่เรียกว่า “สะพานดำ” ห่างจากสถานีรถไฟท่าช้าง 500 เมตร ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เคียงคู่กันมา

สำหรับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คือ 1 ใน 5 ของชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้ใช้นามพระราชทานจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เนื่องในพระมหามงคลวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 พรรษา จากสุขาภิบาลท่าช้างมาเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2539