ม..เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา จับมือกับเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย เปิดโอกาสให้ทางสภาแพทย์แผนไทยร่วมวิจัย”กัญชาเป็นยา”


วันที่ 23 เมษายน 2562 ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเป็นยา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ คณะอาจารย์ฝ่ายวิจัยของคณะฯ ได้ร่วมประชุมปรึกษาหากับ ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย พ.ท.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่ออออนไลน์ภาคอีสาน ในฐานะรองประธานเครือข่ายฯ นายกฤตนัน พันธุ์อุดม กรรมการสภาแพทย์แผนไทย อุปนายกสมาคมชะมดไทย รองประธานเครือข่ายฯ นายประดิษฐ์ บุญเชิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกกัญชาไทย เลขานุการเครือข่ายฯ นางวดี พันธุ์อุดม แพทย์แผนไทยผดุงครรภ์ไทย กรรมการเครือข่ายฯ ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย นายสมชัย แสงทอง รอง ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย ภาคเหนือ นางนิตยา นาโล รอง ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย ภาคอีสาน นายศักดิ์ชาย พรหมโท ประธานผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(ผรท.) นางธนภัทร พันธวาส ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนภาคอีสาน และ ตัวแทนประธานวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือและอีสาน 29 จังหวัด เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อวางกรอบนโยบายในการวิจัยกัญชามาเป็นยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แพทย์แผนไทย และ หมอชาวบ้าน ตาม พ.ร.บ.กัญชา
จากการที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ประกาศชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตผลิต นำเข้า และส่งออก “กัญชา” ซึ่งกฎหมายอนุญาตไว้ 7 กลุ่ม ดังนี้ 1. หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด สภากาชาด 2. ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนด 3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย และจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ 4. เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมกันดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา 5. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6. ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องพกพาติดตัวเพื่อใช้รักษาโรค 7. ผู้ขออนุญาตอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย กรณีเป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องมีสัญชาติไทยและมีสำนักงานในประเทศไทย


ด้วยเหตุนี้เองทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สภาแพทย์แผนไทย องค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์แผนไทย” ที่ผ่านมาประสานงานดำเนินงานตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.กัญชา ที่จะสามารถทำให้ “กลุ่มเกษตรกรปลูกกัญชา”ได้และ “แพทย์แผนไทยทำตำรับยา” ได้อย่างถูกต้องไม่ผิดกฎหมาย ตามประกาศ พ.ร.บ.กัญชาในข้อ 4.ว่า “เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมกันดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา” ทาง “เครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย จึงขอความร่วมมือและร่วมประสานงานกับทาง “คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนคราชสีมา” ได้เปิดดำเนินการจัดสรรงบประมาณวิจัย “กัญชาเป็นยาตามตำรับแพทย์แผนไทย”
ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเป็นยา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ทางภาคประชาชนตื่นตัวกับการนำเอากัญชามาเป็นยา เพื่อรักษาตัวเองและผู้อื่น ทางเราก็พร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่จึงได้เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือพร้อมกับเชิญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และอาจารย์ฝ่ายวิจัยเรื่องนี้มาร่วมประชุมด้วย เพราะที่ผ่านมาตนเองได้เดินทางหาความรู้ไปตามจุดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทราบว่า กัญชา”เป็นพืชในตระกูล Cannabis ที่สามารถจำแนกออกมาได้อีก 3 ชนิด ได้แก่ 1.Cannabis Indica : มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย สูงไม่เกิน 2 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะสั้นและกว้าง เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น หรือการปลูกในร่ม นิยมปลูกเพื่อนำดอกมาใช้สกัดเป็นน้ำมันทางด้านการแพทย์ และนำมาใช้เพื่อการผ่อนคลาย 2.Cannabis Sativa : ลำต้นใหญ่ หนา และแข็งแรง อาจสูงได้มากถึง 6 เมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว สีเขียวอ่อน เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน นิยมปลูกเพื่อเอาใยมาใช้ทางด้านอุตสาหกรรม และนำเมล็ดมาสกัดน้ำมัน และ 3.Cannabis Ruderalis : ต้นเล็กคล้ายวัชพืช ใบมีลักษณะกว้างและเล็กผสมกัน เติบโตได้ดีทั้งในอากาศร้อนและเย็น พบได้มากในทวีปยุโรป ในอนาคตในการวิจัยเราจะต้องนำเอา “ต้นกัญชาทั้งต้น” มาทำการวิจัยว่าส่วนไหนเป็นยาด้านไหนบ้างตามตำรับแพทย์ปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เราจึงอยากจะเชิญคณะแพทย์จากสภาแพทย์แผนไทยเข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้ด้วย


ขณะที่ทาง อาจารย์ ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีทางภาคประชาชนได้ขอเสนอให้ทางคณะฯ ได้เป็นตัวแทนในการวิจัยความเป็นไปได้ของการนำเอากัญชามาเป็นยา อย่างถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.กัญชา และ ทางเราพร้อมสนับสนุนโดยจะมอบหมายให้ทาง ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ได้เป็นหัวหน้าคณะวิจัยและศึกษาข้อกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา เพราะถือได้ว่าเป็นเรื่องดีและละเอียดอ่อนพร้อมกับทำข้อมูลนำเสนอไปทางท่านอธิการฯ และ สภามหาวิทยาลัยฯ ต่อไป
ทางด้าน ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย ได้กล่าวว่า วันนี้ถือได้ว่าพวกเราได้รับข่าวดีที่ทาง “คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา” พร้อมทำวิจัยกัญชาให้กับทางเครือข่ายฯ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และที่สำคัญ “เพื่อประโยชน์ของประชาชน” และยังเปิดโอกาสให้ทางคณะแพทย์แผนไทยเข้าร่วมวิจัยกัญชาตามตำรับยาแพทย์แผนไทยอีกด้วย ในส่วนของภาคประชาชนตนเองก็จะได้ประสานงานไปยัง “สหกรณ์” และ “วิสาหกิจชุมชน” ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายเตรียมความพร้อมและแจ้งไปยังประชาชนที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการรีบดำเนินการจัดตั้งกลุ่มไปขออนุญาตจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับทางสำนักงานเกษตรแต่ละอำเภอให้ถูกต้องตามกฎหมาย