มทส. เริ่มแผนวิจัยผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
ย้ายต้นกล้าพันธุ์ฝอยทองภูผายลรุ่นแรกเข้าโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล

ที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้ฤกษ์ย้ายต้นกล้ากัญชาพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร รุ่นแรก หลังได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เข้าพื้นที่ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล เพื่อผลิตวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทย 9 ตำรับเชิงพาณิชย์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เผยดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดและการกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ปลูก 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต คาดเก็บเกี่ยวรอบแรก เดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสเป็นประธาน“พิธีปลูกต้นกล้ากัญชา เพื่อการวิจัยการผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” พร้อมนี้ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบใบอนุญาตในการปลูกและครอบครองกัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ณ สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ เฉลิมบรมราชกุมารี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย ขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทย ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรคุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐานสากล โครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก ได้มีการวางแผนการผลิต แผนการจําหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ กระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกใบอนุญาตการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่เรียบร้อย นับจากนี้ มทส. จะเดินหน้าตามแผนงานอย่างเต็มกำลัง หลังจากเตรียมการปรับพื้นที่พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี ขนาด 15 ไร่ จัดสร้างโรงเพาะชำต้นกล้า จำนวน 1 โรง โรงเรือนเพื่อการปลูก ขนาด 5 x 100 เมตร จำนวน 2 โรง เป็นโรงเรือนระบบปิดวางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ เพื่อการเพาะกล้า การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิตกัญชา และการจัดทำรายงานผล ซึ่งจะดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุปลูกได้จำนวน 3,360 ต้นต่อหนึ่งรอบการผลิต “เมล็ดพันธุ์กัญชาฝอยทองภูผายล” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งได้ทำการคัดแยกต้นกล้ากัญชารุ่นแรก และทำการย้ายปลูกในวันนี้ โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธาณสุข หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน วิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมงาน และเมื่อต้นกล้ามีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จะทำการคัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ไปปลูกภายในโรงเรือน ทั้ง 2 โรง แบ่งเป็นปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น
รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต สำหรับผลผลิตกัญชาสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม จะทำการเก็บเกี่ยวรอบแรกประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม รอบที่สอง เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความทักษะและประสบการณ์อย่างสูง ทั้งนี้ วัตถุดิบทางการผลิตที่เหลือจะถูกเผาทำลายโดยโรงเผาขยะชีวมวล มทส. ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างใกล้ชิด และก่อนเก็บเกี่ยวจะต้องประสานให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา ในวิเคราะห์สารตกค้าง 5 ส่วน คือ ราก ลําต้น ใบ ดอก และเมล็ด เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพถูกต้องตามมาตราฐาน ก่อนส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรแผนไทย จํานวน 9 ตํารับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาต่อยอดยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน”


นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ตามนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายหลังจากมีการประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มาตรา 26/2 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทุกรายมีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และการเข้าถึงกัญชาจะต้องไม่เป็นการจำกัดรูปแบบเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) เท่านั้น แต่ผู้ป่วยจะต้องมีเสรีภาพในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทุกรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาแผนปัจจุบัน (Modern Drugs) ตำรับยาตามตำรายาแผนไทย ตำรับ Special Access Scheme (SAS) สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และตำรับยาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน (Traditional Products) ดังนั้น การจัดพิธีปลูกต้นกล้ากัญชา เพื่อการวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการขับเคลื่อนและกระตุ้นสังคมให้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนากัญชาในประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ เพื่อนําไปสู่การดําเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต่อไป”