จังหวัดนครราชสีมาเร่งบูรณาการโรคไข้เลือดออกและโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกิจกรรมสำรวจและทำลายแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลาย 3 แห่ง

วันนี้(5 มิ.ย.63) ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โรคไข้เลือดออก
และโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดนครราชสีมา ปี 2563 พร้อมเปิดกิจกรรมจิตอาสา“เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” และนพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัยนายกเทศบาลนครนครราชสีมากล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทั่วโลกและประเทศไทย ดังนั้นเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19ระลอก2 จังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความตระหนักรู้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยบูรณาการโรคไข้เลือดออกและโรคพิษสุนัขบ้าด้วยพบว่าเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย นิทรรศการโรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออกและโรคพิษสุนัขบ้า บริการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สุนัขและแมว โดยความร่วมมือของจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาและเทศบาลนครนครราชสีมา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ


ภาคเอกชนและจิตอาสาพระราชทาน 904 “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ร่วมกิจกรรมสำรวจและทำลายแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลาย 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณหน่วยงานรอบๆศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา, วัดสุทธจินดาวรวิหาร
และวัดบึงอารามหลวง ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ป้องกันโรคไข้เเลือดออก พร้อมโรคโควิด-19 และโรคพิษสุนัขบ้า โดยขอให้ประชาชนร่วมมือป้องกันทั้ง 3โรคและติดตามสถานการณ์จากจังหวัดนครราชสีมาอย่างใกล้ชิด


ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่าต่อจากนั้นนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมด้วยนพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาและนายสุรวุฒิ เชิดชัยนายกเทศบาลนครนครราชสีมาจึงได้ชมนิทรรศการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2519 โรคไข้เลือดออกและโรคพิษสุนัขบ้าและชมการให้บริการทำหมัน และฉีดวัดชีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขและแมว ประธานในพิธีร่วมกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” แบ่งกลุ่มจิตอาสา สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3 จุดอีกด้วย
ทางด้าน นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าเพื่อให้ชาวโคราชร่วมมือป้องกันการระบาดระลอก 2 ของวิกฤตโรคโควิด-19 อีกทั้งมีรายงานทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-3 มิถุนายน 2563พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวนทั้งสิ้น 1,118 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 42.3 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย อัตราตายต่อประชากรแสนคน เท่ากับ 0.08 อัตราป่วยตายเท่ากับร้อยละ 0.14 พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง อัตราส่วนพศชาย ต่อ เพศหญิง เท่ากับ 1.1 : 1 กลุ่มอายุที่พบสูงสุดได้แก่กลุ่มเด็กวัยเรียน คือกลุ่มอายุ 10-14 ปี 326 ราย รองลงมาคือ 5-9(265ราย ), 15-19(253ราย), 20-24(128ราย),0-4(96,ราย),25-29(86ราย),30-34(62ราย),35-39(45ราย),45-49(27ราย),40-45(22ราย), 70+,(19ราย), 50-54(18ราย), 55-59(17,ราย), 65-69(12 ราย) และ 60-64 (8 ราย)ตามลำดับ โดยขณะนี้(ณ 2 มิ.ย.63)จังหวัดนครราชสีมามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศ รองจาก 1) ระยอง 2) ชัยภูมิ 3)ขอนแก่น 4)นครราชสีมา และ 5)แม่ฮ่องสอน อีกทั้งพบว่า ทั้ง 32 อำเภอที่พบอัตราป่วยสูงสุด 10 ลำดับแรก คือ 1.เฉลิมพระเกียรติ 2.โนนไทย 3.สูงเนิน 4.โชคชัย 5.บัวใหญ่ 6.ประทาย 7.ขามทะเลสอ 8.เมือง 9.พิมาย และ 10.โนนสุง ตามลำดับ ดังนั้นขอให้ทุกพื้นที่เร่งสร้างความร่วมมืออย่างเข้มข้นในการรณรงค์ให้ประชาชน ร่วมมือกับผู้นำชุมชน หมู่บ้าน องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น และ อสม. เพื่อชาวโคราชรวมพลังตั้งการ์ดสู้ภัยโรคไข้เลือดออก ควบคู่ไปพร้อมๆกับโควิด-19 รณรงค์สื่อสารลดความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก รณรงค์ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ” และปฏิบัติตาม 5 ป. 2ข. ได้แก่ ป.ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักน้ำใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ , ป.เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำยุงลายที่จะกลายเป็นยุง , ป.ปล่อยปลากินลูกน้ำ ในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ , ป.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และ ป.ปฏิบัติเป็นประจำทุกๆสัปดาห์จนเป็นนิสัย สำหรับ 2ข.ได้แก่ ข.ขัดไข่ยุงที่ขอบด้านในของภาชนะเก็บกักน้ำ และ ข.ขยะกำจัดให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย ทั้งที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทำงาน ศาสนาสถาน อีกทั้งป้องกันยุงลายกัดในช่วงกลางวันโดยการนอนกางมุ้งหรือทายากันยุง รวมทั้งใช้นวัตกรรมใหม่ๆในการป้องกันควบคุมโรคเพื่อให้โคราชปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกต่อไป ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกป้องกันได้ แต่มีอันตรายรุนแรงถึงเสียชีวิต โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากมีไข้สูงลอยเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารหน้าแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านด่วนเพื่อป้องกันการเสียชีวิต ขณะที่โรคพิษสุนัขบ้า ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทำให้มีผู้เสียชีวิตทุกปี โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 2 มิถุนายน 2563 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่ยังพบโรคในสัตว์พาหะอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยในปี 2563 ข้อมูลจาก website thairabies.com ของกรมปศุสัตว์ พบว่า มีตัวอย่างสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความเสี่ยงต่อการระบาด ของโรคพิษสุนัขบ้า จากการเฝ้าระวังของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้ติดตามผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเข้ารับวัคซีน 100 % ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันเพื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และมีความตระหนักในเชิงป้องกัน โดยการเน้นย้ำว่าผู้ที่สัมผัสหรือถูกสุนัข/แมวกัด ข่วน ต้องเข้าทำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและรับการ
รักษาอย่างถูกวิธีตามหลักสาธารณสุขหากไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา หากป่วย“ตายอย่างเดียว” จึงขอความร่วมมือประชาชนเจ้าของสุนัข/แมว ให้มีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูโดยนำสัตว์เลี้ยงของตนมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับวัคซีนหรือทำหมัน และกำหนดมาตรการในการลดจำนวนสุนัข-แมวจรจัดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งส่งเสริมให้เทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล/ปศุสัตว์/ผู้นำชุมชน/อาสาสมัครสาธารณสุข/อาสาสมัครพัฒนาปศุสัตว์ประจำ หมู่บ้าน ดำเนินการสำรวจจำนวนสุนัขและแมวทุกพื้นที่และให้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเอง โดยยึดหลัก “คาถา 5 ย” 1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกัน ด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกิน 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ