วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมโคราช 2 โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดนครราชสีมา ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 หัวข้อ เหลียวหลัง…แลหน้า…เศรษฐกิจการเงินอีสาน
โดยเป็นการแถลงข่าวสัญจรครั้งแรก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ บทบาทหน้าที่ของ ธปท. ภาคอีสาน ได้แก่
1) จับชีพจรเศรษฐกิจการเงินในพื้นที่ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
2) สร้างองค์ความรู้วิชาการเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่
3) ผลักดันนโยบาย ธปท. ให้กับพื้นที่
4) เป็นตัวกลางความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
5) สนับสนุนให้คนอีสานมีความรู้ทางด้านการเงินและเท่าทันภัยการเงิน โครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสาน
1) ภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดหลักของคนอีสาน มีแรงงานในภาคนี้ถึงร้อยละ 53 ของผู้มีงานทำในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานเพียงร้อยละ 7
2) ภาคเกษตรส่วนใหญ่พึ่งฟ้าพึ่งฝน และความสามารถในการทำเกษตรลดลง
3) รายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายในภาคครัวเรือน นำไปสู่ปัญหาหนี้ จากโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานต่างจากประเทศ
ปี 2566 เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวจากการบริโภคและท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัว ตามการบริโภคจากรายได้ที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร หมดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวแต่ช่วยสนับสนุนได้น้อยเพราะมีเพียงไม่เกินร้อยละ 3 ของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคอีสาน โดยภาพรวมเศรษฐกิจ ไตรมาส 1 ปี 2567 อ่อนแรงต่อเนื่องจากปี 2566 จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐลดลง ค่าครองชีพในสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานอ่อนแอลงจากผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรลดลง
นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณเปราะบางต่อเนื่องจากปี 2566 และกำลังซื้อมีความเปราะบางมากขึ้น ในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถกระบะหดตัวสูง และยอดขายบ้านในระดับกลางและล่างลดลงต่อเนื่อง จากรายได้ที่ลดลง รวมทั้งความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี มีปัจจัยช่วยพยุงการบริโภคได้บ้างจากผลของราคาผลผลิตเกษตรที่ดี และการท่องเที่ยวที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566
ระยะถัดไป เศรษฐกิจภาคอีสานคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว จากงบประมาณภาครัฐปี 2567 ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังไตรมาส 2 ทำให้ภาคการค้า การก่อสร้างตามการลงทุนของรัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 รายได้เกษตรกระจายตัวมากขึ้นจากผลดีของภัยแล้งที่คลี่คลายในช่วงหลังของปี 2567 คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว การผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดอาหารแปรรูปและเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มฟื้นตัวดี และการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามากระจายหลายจังหวัดเพิ่มมากขึ้น