ศิลปะขอมอีกแห่ง ของคนโคราช “ปรางค์พระโค” แห่งเมืองกระโทก อ.โชคชัย
ปราสาทหินบ้านพะโค หรือ ปราสาทปะโค ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครนครราชสีมา ถิ่นน้าชาติ บ้านคุณสุวัจน์และเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ในปลายปีไงครับ
หากเดินทางจากตัวจังหวัด ตามถนนหลวงหมายเลข 224 ผ่านแหล่งเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนอันเลื่องชื่อของเมืองโคราช ประมาณ 30 กิโลเมตรก็จะมาถึงตัวอำเภอโชคชัย เดินทางต่อจากตัวเมืองโชคชัยไปทางอำเภอครบุรี ด้วยทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2071 อีกประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ก็จะพบปราสาทองค์เล็ก ๆ ทางด้านขวามือ
ซึ่งหากเดินทางโดยไม่ได้เจาะจงสนใจมากนัก ก็จะผ่านเลย “ปราสาทพะโค” ไปได้โดยง่าย
ด้วยเพราะปราสาทหินพะโคเป็นปราสาท”ขนาดเล็ก” ไม่ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมืองโคราช เช่นเดียวกับ ปราสาทหินใหญ่ ๆ อย่างปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน ปราสาทเมืองแขก เมืองเสมา ฯลฯ จึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวหลงทางแวะมาชมกันมากนัก เรียกได้ว่าถ้าจะมาก็ต้องตั้งใจมากันจริง ๆ แล้วค่อยตัดเดินทางไปตามเส้นทางลัดสาย สูงเนิน – โชคชัย เดินทางลัดไปจังหวัดบุรีรัมย์
เฉพาะที่อำเภอปักธงชัย ใกล้เคียงกับปราสาทพะโคก็มีปราสาทขนาดเล็กที่สร้างเพื่อเป็นปราสาท “สรุก” หรือเทวาลัยประจำชุมชนโบราณ ถึง 8 หลัง เช่น ปราสาทบ้านนาแค ปราสาทบึงคำ ปราสาทสระหิน ปราสาทบ้านปรางค์ ฯ ในอำเภอโชคชัยก็มีอยู่ 3 ปราสาทและมีปราสาทหินน้อยใหญ่รวม 34 แห่ง ทั่วเขตจังหวัดนครราชสีมา บางแห่งก็บูรณะแล้ว บางแห่งก็ยังมีสภาพรกร้างเดิม ๆ ดิบอยู่
ปราสาทหินตามชุมชนโบราณขนาดเล็กทั้งหลายนี้ ส่วนใหญ่จะมีสภาพพังทลายไม่สมบูรณ์เพราะต้องผจญกาลเวลามายาวนานกว่าพันปีบ้าง เกือบพันปีบ้าง ปราสาทหินจึงมี “ความไม่สมบูรณ์” ที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ยังสร้างไม่เสร็จก็หยุดสร้าง เพิ่งเริ่มสร้างยังไม่ทันแกะสลักลายก็หยุดสร้าง หรือถูกทำลายจากภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว บ้างก็มีต้นไม้ ป่ารกขึ้นปกคลุมแทนเพราะไม่มีชุมชนมาใช้ประโยชน์หรือมาคอยดูแลรักษา
บางปราสาท ฐานล่างต้องรับทั้งน้ำฝน ความชื้นและความร้อน ก็ล้วนแต่จะช่วยทำให้หินทรายเกิดปฏิกิริยาพองและกรอบ จึงรับน้ำหนักด้านบนที่กดทับลงมาไม่ไหวก็แตกกร่อนพาให้ด้านบนพังทลายลงมา
บางปราสาทก็อาจถูกผู้คนในยุคหลังเข้ามารื้อทำลาย ทั้งเพื่อนำหินไปสร้างปราสาทหรือศาสนสถานตามคติความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการค้นหาทรัพย์สมบัติและโลหะที่มีค่าไปใช้ประโยชน์
ปราสาทหินและโบราณสถานหลายแห่งล้วนเสื่อมสภาพและพังทลายตามเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งสิ้น บางปราสาทหินก็อาจจะเจอสองเด้งทั้งภัยธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์
คำว่า “พะโค” มาจากคำว่า “ปะโค” ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ในนิทานภาคอีสาน เรื่องหอนางอุษาหรืออุสา-บารส หรืออาจจะมาจากคำเขมรว่า “เปรียะโค” แปลว่า “พระโค(วัว)” ชาวบ้านในพื้นที่ปัจจุบันน่าจะเคลื่อนย้ายมาจากทางอีสานเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว จึงนำชื่อเรียกใหม่สวมทับปราสาทในภายหลังครับ
สภาพก่อนการบูรณะนั้น ปราสาทมีสภาพเป็นโคกเนินดินทับถมขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกรุงรัง มีกองหิน อิฐและเศษรูปสลักกระจัดกระจายอยู่บนเนิน มีร่องรอยการขุดหาของเก่าหลายหลุม บางโรงเรียนโดยรอบปราสาทได้มานำทับหลังและรูปสลักหินไปเก็บไว้ บางทีก็เป็นบ้านคนมาเก็บไป บางทีก็เป็นวัดมาเก็บ มีการลักลอบนำลายแกะสลักหินที่แตกหักออกจากปราสาทไปบ่อยครั้ง
ปราสาทพะโคในสายตาในเวลานั้นอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง ตามความเห็นและข้อสันนิษฐานของผม ปราสาทหินองค์นี้ เป็นปราสาทที่สวยงามและอลังการที่สุดในบรรดาปราสาททางทิศใต้ของเขตเมืองโคราช อายุของปราสาทอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 -16 ฝีมือช่างแกะสลักระดับช่างหลวงคลาสลิค แบบแผนศิลปะเทียบเคียงได้กับศิลปะเกลียงหรือคลังในประเทศกัมพูชา
นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบยังมีสระน้ำ ล้อมรอบ และมีดอกบัวจำนวนมากอีกด้วย
ขอบคุณที่มา :
วรณัย พงศาชลากร
เรื่องราวทางมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สหวิทยาการและมุม Gossip
Permalink : http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai