เปิดตัวศูนย์พัฒนาเยาวชนสโมสรราชประชาประจำจังหวัดนครราชสีมา&พิธีเปิด-ปิดแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพวิทยา FA Cup ครั้งที่ 1
เปิดตัวโครงการนำร่องโรงเรียนมิตรภาพ #เปิดศูนย์พัฒนาเยาวชนสโมสรราชประชาประจำจังหวัดนครราชสีมา&พิธีเปิด-ปิดแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพวิทยา FA Cup ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพลเอกหม่อมหลวงสุปรีดี ประวิตรประธานสโมสรกีฬาราชประชา
ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2565 ณ สนามโรงเรียนมิตรภาพวิทยาตำบลดอนยาวใหญ่อำเภอโนนแดงจังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 14 สิงหาคม 2565 นายมนชัย เยื่องกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนมิตรภาพวิทยาพร้อมอ.เจริญ พงษ์โพธิ์ ผอ.ศูนย์พัฒนาเยาวชนสโมสรราชประชา และนายวีระ เมืองกลางผู้ประสานงานทีมพร้อมคณะผู้ผู้สนับสนุน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการเปิดตัวนำร่องศูนย์ฝึกนักกีฬาเยาวชนสโมสรราชประชาประจำจังหวัดนครราชสีมา เป็นแห่งแรกที่เปิดในจังหวัดนครราชสีมาภายใต้ความร่วมมือกับสโมสรราชประชา ในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนสู่โครงการต้นกล้านักฟุตบอล สานฝันปั้นเยาวชนสู่มืออาชีพพร้อมครั้งนี้ทางคณะผู้ดำเนินการโรงเรียนได้จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับเยาวชนและประชาชนอาวุโสการแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพ FA Cup ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดตัว โครงการนำร่องพัฒนาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลเยาวชน โดยการแข่งขันครั้งนี้มีทีมที่ร่วมแข่งขันอยู่ 2 ประเภทประเภทเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี มีทีมร่วมแข่งขันรวมทั้งสิ้น 10 ทีม ได้ทีมชนะเลิศ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ทีมชนะเลิศทีม ผ่องใส อาคาเดมี่ จากอ.หนองสองห้อง ขอนแก่น
ทีมรองชนะเลิศ ทีม รร.เทศบาล 2 อ.บัวใหญ่
ทีมรองชนะเลิศอับดับ2 ทีม อ.หนองบุญมาก
รองชนะเลิศอันดับ3 ทีมนพคุณ อ.โนนแดง
และทีมอาวุโส ได้ทีมชนะเลิศตามลำดับดังต่อไปนี้
ทีมชนะเลิศได้แก่ทีมอาวุโสบัวใหญ่VIP ทีม เทศบาลรังหาใหญ่พิมาย
รองชนะเลิศอันดับ1ทีม สีดา
รองชนะเลิศอันดับ2ทีม ประทาย
รองชนะเลิศอันดับ3ทีมบัวใหญ่ จากการจัดกิจกรรมทางผู้อำนวยการดำเนินโครงการได้ขอเชิญชวน พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานสนใจส่งเสริมด้านทักษะกีฬาฟุตบอลสามารถทำบุญหลายท่านมาร่วมโครงการได้ที่โรงเรียนมิตรภาพ โดยนักเรียนที่เข้าโครงการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพตลอดการศึกษาตั้งแต่ม 1 ถึงม. 6 ติดต่อ อ.เบ็ญกาย 0800122095หรือ Facebook ศูนย์พัฒนาเยาวชนสโมสรกีฬาราชประชาประจำจังหวัดนครราชสีมา
สนว.อีสาน ประกาศเกียรติคุณคนทำสื่อคุณภาพ มอบโล่ “สื่อคุณธรรม” การันตรีมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนภาคอีสาน
สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน งานเสวนาเรื่อง “ทำข่าวอย่างไรไม่ให้โดนฟ้อง … PDPA รู้ไว้ก่อนจะปลอดภัย” และ รมว. ดีอีเอส มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ สื่อคุณธรรม ให้ผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนภาคอีสาน ที่มีคุณธรรม และจริยธรรม ตระหนักในความสำคัญของการใช้สื่อออนไลน์ และเป็นแบบอย่างในการใช้สื่อออนไลน์ในการทำประโยชน์ให้กับสังคม
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องกรรณิการ์บอลรูม โรงแรมพิมานการ์เด้น บูติคโฮเต็ล อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนาเรื่อง “ทำข่าวอย่างไรไม่ให้โดนฟ้อง … PDPA รู้ไว้ก่อนจะปลอดภัย” มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ สื่อคุณธรรม และมอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือสื่อมวลชนที่พิการทางสายตา โดยมี พันโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ,คณะกรรมการบริหารสมาคม, สื่อมวลชนภาคอีสาน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน
พันโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน บทบาทของสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้ง วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ได้ทำหน้าที่สะท้อนภาพเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวของสังคมไทยในมิติต่างๆ ด้วยความตั้งมั่นและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเองมาโดยตลอด รวมไปถึงยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมในหลายๆเหตุการณ์ ซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของสื่อมวลชนนั่นเอง
กระทั่งในยุคปัจจุบันที่โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ยุคที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมไปถึงข่าวสารจากทั่วโลกเราสามารถรับรู้ได้ เกือบจะเวลาเดียวกันกับสถานที่ที่เหตุการณ์ในอีกซีกโลก สื่อมวลชนเองก็จะต้องปรับตัวในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เช่นกัน และพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ภาค
อีสาน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น ในประเด็น “ทำข่าวอย่างไร ไม่ให้โดนฟ้อง … PDPA รู้ไว้ก่อนจะปลอดภัย” เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักในความ สำคัญของการใช้สื่อออนไลน์ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน บรรยายเรื่อง “ทำข่าวอย่างไร ภายใต้ PDPA ห่างไกลคุก” โดยท่านวิทยากรจาก ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ PDPA Thailand และเลขาธิการ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ,นายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายธาราวุฒิ สืบเชื้อ รองนายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกฎหมาย ดำเนินรายการโดย ดร.อิสเรศณุชิตภ์ จันทร์ศรี ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์ อาเซียน AIHD และการบรรยายพิเศษ “PDPA กับสื่อสังคมออนไลน์” โดย นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้คณะกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาคัดเลือกองค์กร และบุคคล เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “สื่อคุณธรรม” จำนวน 25 คน โดยเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และจริยธรรม ตระหนักในความสำคัญของการใช้สื่อออนไลน์ ส่งเสริมจริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และเป็นแบบอย่างในการใช้สื่อออนไลน์ในการทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบโล่ดังกล่าวให้
อาจารย์เธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่รับการคัดเลือกเข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “สื่อคุณธรรม” ซึ่งเป็นการประกาศยกย่อง ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมและสู่สายตาสาธารณชน ในการเป็นแบบอย่างที่ดีในมิติด้านคุณธรรม และเป็นผู้มีพฤติกรรมด้านคุณธรรมควรค่าแก่การยกย่อง ในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในการเผยแพร่ข้อมูลสิ่งดีงาม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมไทย
พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Personal Data Protection Act หรือ PDPA คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การควบคุมไม่ให้องค์กรนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม ด้วยความที่ในปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การครอบครองเบอร์โทรศัพท์โดยการซื้อฐานข้อมูลมาจากที่อื่นและโทรไปหาโดยที่ไม่มีการรับรู้จากเจ้าของเบอร์โทรศัพท์นั้น หรือการที่เราได้รับโฆษณาบน Social Media จากข้อมูลการใช้งานของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือไม่ได้ยินยอมให้องค์กรเก็บข้อมูล เป็นต้น
กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยข้อบังคับกฎหมาย PDPA จะให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติการทำงาน และข้อมูลส่วนบุคคลประเภทอื่น ๆ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ บันทึกเสียง เลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม ซึ่งรายละเอียดจะได้พูดถึงในการบรรยายพิเศษ และเวทีเสวนาในวันนี้ เพื่อคลายความวิตกกังวลของพี่น้องสื่อมวลชน และทุกท่าน
โคราชเปิดตัวเศรษฐกิจเวลเนสภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
โคราชเปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโคราช ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (Korat Wellness Corridor) ทั้ง 5 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 โรงแรมเดอะเปียโน รีสอร์ท เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมาพลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี มาเป็นประธานเปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา โดยมีประธานกฎบัตรสุขภาพ, เลขานุการกฎบัตรไทยและนายกสมาคมการผังเมืองไทย ตลอดจน ภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา อาทิ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดฯ, ททท.สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจน ส่วนราชการ, ภาคการศึกษา, 10 องค์กรภาคเอกชน เข้าร่วมในงาน
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า Wellness หรือที่เรียกทั่วไปว่า Anti-Aging เป็นเวชศาสตร์ป้องกันแขนงหนึ่งของการแพทย์คู่กับการรักษาพยาบาล ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการเจ็บป่วยที่ต้นเหตุ ซึ่งในปัจจุบัน การแพทย์มีวิวัฒนาการเจริญก้าวหน้าขึ้น ส่งผลให้ผู้คนเริ่มหันมาดูแลรักษาสุขภาพร่างกายในขณะที่ยังไม่เจ็บป่วยมากขึ้นด้วย มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีผลต่อการดูแลสุขภาพมาใช้มากขึ้น และเทรนด์ในอนาคต จะมีเรื่อง Wellness รวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นสังคมที่ประชาชนมีสุขภาพดี ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ ด้านอาหาร และภาคส่วนต่าง ๆ ก็มีศักยภาพและมีความพร้อมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (Korat Wellness Corridor) ทั้ง 5 ด้านอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งด้าน Holistic Wellness, ด้าน Functional and personalized Healthcare ,ด้าน Real estate and Workplace Wellness, ด้าน Aesthetic and Anti-Aging และด้าน Digital Wellness and Innovation จึงได้จัดงานเปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมาขึ้น
ด้าน ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ. นครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา ได้ประสานกับหลายๆ องค์กรจากทุกภาคส่วน ร่วมกันทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ค้นหาเอกลักษณ์-อัตลักษณ์ของแต่ละอำเภอ ยกขึ้นมาเป็นจุดเด่น พัฒนาให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม โดยมี สสปน.สำนักงาน ส่งเสริม การ จัด ประชุม และ นิทรรศการ (องค์การ มหาชน) เข้ามาดูแลจัดประกวดเพื่อยกระดับสินค้า และมี ททท.เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการตลาด นำเอเจนซี่เข้ามา เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพ ก็เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในช่วงโควิดระบาด ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมที่จะเปิดตัวเป็น “เมืองสุขภาพ” และทุกภาคส่วนในจังหวัด ก็พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมเดินหน้ากันอย่างเต็มที่
ชาวเชียงใหม่ร่วมใจดูแลช้างหลังไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ
ประเทศไทย – ชาวเชียงใหม่ร่วมใจดูแลช้างหลังไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ
จากการสำรวจของสหพันธ์ช้างไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างเลี้ยงอยู่ราว 3,700 – 3,800 เชือก ซึ่งส่วนมากเป็นช้างที่ถูกใช้งานในแวดวงการท่องเที่ยว เกือบทั้งหมดได้กลายสภาพเป็นช้างตกงานจากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูช้างตามมา เนื่องจากช้างแต่ละเชือกจะต้องกินอาหารให้ได้วันละ 10% ของน้ำหนักตัว ขณะที่ช้างแต่ละเชือกมีน้ำหนักตั้งแต่ 2,000 – 5,000 กิโลกรัม เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้ริเริ่มไอเดียในการบริจาคที่ดินเปล่าในเขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ชาวบ้านในพื้นที่และควาญช้างได้มาช่วยกันปลูกหญ้าเนเปียเพื่อนำไปเป็นอาหารช้าง จนทำให้ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการและเอกชนอีกหลายรายที่ได้บริจาคที่ดินเปล่า หรือบริจาคอาหารให้กับช้างตามปางต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ภายในพื้นที่ และการบริจาคจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังไม่มีนโยบายความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ขณะที่สมาคมสหพันธ์ข้างไทย วอนให้รัฐบาลไทยมองว่าช้างเป็นประชากรอีกส่วนหนึ่งของประเทศด้วย
ปรีทอง สิงขรพิทักษ์ – คนงานปลูกหญ้าเนเปีย บอกว่า “ดูแลหญ้า แล้วก็ปลูกหญ้าครับให้ช้างครับ ยกขึ้นรถครับ ยกขึ้นรถไปส่งปางช้างต่างๆ นะครับ ไปส่งแม่แตงบ้าง แม่วางบ้าง แม่ริมบ้าง แล้วก็พัทร เอ้ย หางดงบ้างนะครับ”
ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย
บอกว่า “ช้างในประเทศไทยเนี่ยกว่า 3,800 เชือกเนี่ย ส่วนมากแล้วได้รับการเลี้ยงดูหรือดูแลในสารบบของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นตั้งแต่เราปิดประเทศมาเนี่ย จนถึงวันนี้แล้วก็ครบรอบ 2 ปีแล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่าคนเลี้ยงช้างไม่มีรายได้ แทบจะทุกวันหรือวันเว้นวันเนี่ย เราต้องประสบปัญหาได้รับการรายงานถึงช้างที่ล้มป่วยและตายลงนะครับ”
กันทอง เลิศวงษ์รัตนกุล – ควาญช้าง บอกนักข่าว “ที่แม่ขนิลนี่มี 10 กว่าเชือกครับ ดูแลตอนนี้ 2 แม่ลูกครับ ทุกวันนี้ก็หาตัดหญ้าที่ปลูกไว้ให้นะครับ เพราะว่าตอนนี้จะเข้าหน้าแล้งแล้ว หญ้าไม่ค่อยเพียงพอแล้วครับ”
เพิ่มพงษ์ สาวิกันย์ – ผู้จัดการโครงการปางช้างภัทร บอกว่า “ก็ช่วยกันกับควาญช้าง ก็ดูแลสถานที่ ดูช้างช่วยกัน ไปดูสถานที่ที่ออกไปไกลจากนี่ฮะ เข้าไปในป่า ไปดูว่ามีอาหารช้างมั้ย ถ้ามีก็มาบอกกัน ก็คืออยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเราก็จะมีรายได้สำหรับที่จะช่วยดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับควาญช้าง”
ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย บอกว่า “สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของโครงการนำร่องที่เริ่มต้นด้วยบริษัท แสนสิริ จำกัดนะครับ กลายเป็นว่า หน่วยงานอื่นที่เห็นแนวทางก็เข้ามาสนับสนุนโครงการของสมาคมด้วย ล่าสุดก็เป็นความร่วมมือของภาคทหารนะครับ กองพันสัตว์ต่างร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่นะครับ ร่วมกันให้เราใช้พื้นที่กว่าร้อยไร่ในการปลูกหญ้านะครับ ซึ่งก็เป็นเฟสที่ 2 รวมถึงเอกชนรายต่างๆ ที่มีการติดต่อเข้ามา สิ่งที่ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการหางบประมาณในการจ้างควาญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนคงต้องช่วยกันคิดต่อไปว่าทำยังไงถึงจะรักษาควาญช้าง 3-4,000 คนเนี่ย เพื่อให้เขาช่วยเลี้ยงดูช้างของประเทศไทยให้ได้”
ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เพิ่มว่า “เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราเป็นประเทศที่มีช้างนะครับ เพราะฉะนั้นนอกจากมีประชากร 70 กว่าล้านคนที่จะต้องดูแลแล้ว ข้อนึงที่รัฐบาลจะลืมไม่ได้ มองข้ามไม่ได้เลยก็คือยังมีประชากรช้างกว่า 3,800 เชือก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยครับ”
ที่มา A24 News Agency