ศิลปะขอมอีกแห่ง ของคนโคราช “ปรางค์พระโค” แห่งเมืองกระโทก อ.โชคชัย

ศิลปะขอมอีกแห่ง ของคนโคราช “ปรางค์พระโค” แห่งเมืองกระโทก อ.โชคชัย

 ปราสาทหินบ้านพะโค หรือ ปราสาทปะโค ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครนครราชสีมา ถิ่นน้าชาติ บ้านคุณสุวัจน์และเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ในปลายปีไงครับ

        หากเดินทางจากตัวจังหวัด ตามถนนหลวงหมายเลข 224 ผ่านแหล่งเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนอันเลื่องชื่อของเมืองโคราช ประมาณ 30 กิโลเมตรก็จะมาถึงตัวอำเภอโชคชัย เดินทางต่อจากตัวเมืองโชคชัยไปทางอำเภอครบุรี ด้วยทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2071 อีกประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ก็จะพบปราสาทองค์เล็ก ๆ ทางด้านขวามือ

         ซึ่งหากเดินทางโดยไม่ได้เจาะจงสนใจมากนัก ก็จะผ่านเลย “ปราสาทพะโค” ไปได้โดยง่าย

ด้วยเพราะปราสาทหินพะโคเป็นปราสาท”ขนาดเล็ก” ไม่ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมืองโคราช เช่นเดียวกับ ปราสาทหินใหญ่ ๆ อย่างปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน ปราสาทเมืองแขก เมืองเสมา ฯลฯ จึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวหลงทางแวะมาชมกันมากนัก เรียกได้ว่าถ้าจะมาก็ต้องตั้งใจมากันจริง ๆ แล้วค่อยตัดเดินทางไปตามเส้นทางลัดสาย สูงเนิน  – โชคชัย เดินทางลัดไปจังหวัดบุรีรัมย์

        เฉพาะที่อำเภอปักธงชัย ใกล้เคียงกับปราสาทพะโคก็มีปราสาทขนาดเล็กที่สร้างเพื่อเป็นปราสาท สรุก” หรือเทวาลัยประจำชุมชนโบราณ ถึง 8 หลัง เช่น ปราสาทบ้านนาแค ปราสาทบึงคำ ปราสาทสระหิน ปราสาทบ้านปรางค์ ฯ ในอำเภอโชคชัยก็มีอยู่ 3 ปราสาทและมีปราสาทหินน้อยใหญ่รวม 34 แห่ง ทั่วเขตจังหวัดนครราชสีมา บางแห่งก็บูรณะแล้ว บางแห่งก็ยังมีสภาพรกร้างเดิม ๆ ดิบอยู่

         ปราสาทหินตามชุมชนโบราณขนาดเล็กทั้งหลายนี้ ส่วนใหญ่จะมีสภาพพังทลายไม่สมบูรณ์เพราะต้องผจญกาลเวลามายาวนานกว่าพันปีบ้าง เกือบพันปีบ้าง ปราสาทหินจึงมี “ความไม่สมบูรณ์” ที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ยังสร้างไม่เสร็จก็หยุดสร้าง เพิ่งเริ่มสร้างยังไม่ทันแกะสลักลายก็หยุดสร้าง หรือถูกทำลายจากภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว บ้างก็มีต้นไม้ ป่ารกขึ้นปกคลุมแทนเพราะไม่มีชุมชนมาใช้ประโยชน์หรือมาคอยดูแลรักษา

        บางปราสาท ฐานล่างต้องรับทั้งน้ำฝน ความชื้นและความร้อน ก็ล้วนแต่จะช่วยทำให้หินทรายเกิดปฏิกิริยาพองและกรอบ จึงรับน้ำหนักด้านบนที่กดทับลงมาไม่ไหวก็แตกกร่อนพาให้ด้านบนพังทลายลงมา

        บางปราสาทก็อาจถูกผู้คนในยุคหลังเข้ามารื้อทำลาย ทั้งเพื่อนำหินไปสร้างปราสาทหรือศาสนสถานตามคติความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการค้นหาทรัพย์สมบัติและโลหะที่มีค่าไปใช้ประโยชน์

        ปราสาทหินและโบราณสถานหลายแห่งล้วนเสื่อมสภาพและพังทลายตามเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งสิ้น บางปราสาทหินก็อาจจะเจอสองเด้งทั้งภัยธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์

        

คำว่า “พะโค” มาจากคำว่า “ปะโค” ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ในนิทานภาคอีสาน เรื่องหอนางอุษาหรืออุสา-บารส หรืออาจจะมาจากคำเขมรว่า เปรียะโค” แปลว่า “พระโค(วัว)” ชาวบ้านในพื้นที่ปัจจุบันน่าจะเคลื่อนย้ายมาจากทางอีสานเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว จึงนำชื่อเรียกใหม่สวมทับปราสาทในภายหลังครับ

         สภาพก่อนการบูรณะนั้น ปราสาทมีสภาพเป็นโคกเนินดินทับถมขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกรุงรัง มีกองหิน อิฐและเศษรูปสลักกระจัดกระจายอยู่บนเนิน มีร่องรอยการขุดหาของเก่าหลายหลุม บางโรงเรียนโดยรอบปราสาทได้มานำทับหลังและรูปสลักหินไปเก็บไว้ บางทีก็เป็นบ้านคนมาเก็บไป บางทีก็เป็นวัดมาเก็บ มีการลักลอบนำลายแกะสลักหินที่แตกหักออกจากปราสาทไปบ่อยครั้ง

       ปราสาทพะโคในสายตาในเวลานั้นอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง ตามความเห็นและข้อสันนิษฐานของผม ปราสาทหินองค์นี้ เป็นปราสาทที่สวยงามและอลังการที่สุดในบรรดาปราสาททางทิศใต้ของเขตเมืองโคราช อายุของปราสาทอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 -16 ฝีมือช่างแกะสลักระดับช่างหลวงคลาสลิค แบบแผนศิลปะเทียบเคียงได้กับศิลปะเกลียงหรือคลังในประเทศกัมพูชา

      นอกจากนี้  บริเวณโดยรอบยังมีสระน้ำ ล้อมรอบ และมีดอกบัวจำนวนมากอีกด้วย

ขอบคุณที่มา  :

วรณัย พงศาชลากร
เรื่องราวทางมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สหวิทยาการและมุม Gossip
Permalink : http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai

“วิสาขบูชา พุทธบารมี ปีที่ ๑๒” จัดยิ่งใหญ่ ยาวนานที่สุดในโลก

“วิสาขบูชา พุทธบารมี ปีที่ ๑๒” จัดยิ่งใหญ่ ยาวนานที่สุดในโลก

๒ พ.ค. – ๒ มิ.ย. ๒๕๖๒ ณ มณฑลพิธี ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น ๓ เดอะมอลล์โคราช

จัดต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์แบบเป็นปีที่ ๑๒ สำหรับงานบุญยิ่งใหญ่ สุขใจใกล้ธรรม มูลนิธิพุทธบารมี กองทัพภาคที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมา ตำรวจภูธรภาค ๓ เทศบาลนครนครราชสีมา คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมาและศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช จัดงาน “วิสาขบูชา พุทธบารมี ประจำปี ๒๕๖๒”

วันที่ ๒ พฤษภาคม- ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ระยะเวลา ๓๒ วัน ถือเป็นงานบุญยิ่งใหญ่และยาวนานที่สุดในโลก จัดขึ้น ณ มณฑลพิธี ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น ๓ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช โดยในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๓๐ น. เป็นพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ และต้อนรับคณะทูตตัวแทนจาก ๕ ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมในพิธีเปิดและ

กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “วันสำคัญในพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา”

ภายในงานพุทธศาสนิกชนจะได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ๙ พระองค์ จาก ๔ ประเทศ (อินเดียศรีลังกา เมียนมาร์ และประเทศไทย) ปูชนียะ…สูงค่าแก่การสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ศึกษาถึงแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาจากนิทรรศการ “พุทธธรรม แก่นธรรม แก่นแท้” ที่ปรารถนาเพียงให้นำพระไตรปิฎกออกจากตู้มาสู่ใจ ให้สาธุชนเข้าใจน้อมนำไปปฏิบัติตามมงคล ๓๘ ประการ โดยภายในนิทรรศการได้อัญเชิญตู้พระไตรปิฎกจากวัดพายัพ พระอารามหลวง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รวบรวมพระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาและภาษาบาลีสันสกฤต ฉบับสยามรัฐ จำนวนทั้งสิ้น ๙๐ เล่มไว้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาถึงแก่นธรรมโดยแท้จริง พร้อมจัดทำห้องฉายแสงสอนคติธรรมบนศิลาจารึก ชื่อห้อง “แสงทอง มองแสงธรรม” และจัดแสดง ธรรมจักร ล้อแห่งธรรม คือจักรแห่งธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนให้ขับเคลื่อนไปในใจของชาวโลก เสาอโศก เสาหินโบราณที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เมารยะ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ลานธรรมนำปัญญา ให้สาธุชนได้ศึกษาถึงแก่นธรรมเพื่อน้อมนำไปปฏิบัติ พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญรูปหล่อจำลองของพระอริยสงฆ์ จำนวน ๖ รูป ได้แก่ ๑.พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ๒.หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ๓.พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต(หลวงปู่มั่น) ๔.พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

๕.พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) ๖.พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) และภาพถ่ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)และพระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์

สิรินฺธโร) มาประดิษฐานให้สาธุชนได้ศึกษาเส้นทางธรรมภายในนิทรรศการนี้ด้วย

เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสร้างทานบารมีกับกิจกรรมสุขใจได้บุญ อาทิ ร่วมหล่อพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาขนาดหน้าตัก ๒๔ นิ้ว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและมวลสารศักดิ์สิทธิ์, ปิดทองพระพุทธบาท ๔ รอย (จำลอง) , ปิดทองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๙ องค์ ๙ วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล , ร่วมสร้างพระพุทธรูปด้วยการถวายแผ่นโพธิ์ทอง, ทอดผ้าป่ามหากุศล, ถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุสงฆ์, ตักบาตรหนังสือธรรมะ และในช่วง ๑๘.๐๐ น. ทุกวัน ร่วมสวดมนต์เย็นและนั่งสมาธิเจริญสติและเดินจงกรม โดยสถาบันพลังจิตตานุภาพ

สุขใจ…ฟังธรรมบรรยายทุกวันโดยพระธรรมวิทยากรชื่อดัง อาทิ พระราชธรรมนิเทศ(พระพยอม

กัลยาโณ), พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต, พระราชวิสุทธิประชานาถ(หลวงพ่ออลงกต)และพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันท่องพระสูตร โดยนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓-๖ ตัวแทนจากโรงเรียนจังหวัดนครราชสีมาทั้ง ๓๒ อำเภอ เพื่อให้เยาวชนศึกษาและเข้าใจพระสูตรมงคล ๓๘ ประการ

อันเป็นมงคลอันประเสริฐเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตรงธรรม โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละอำเภอจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา

วันศุกร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๙ น. ขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมกวนข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) บริเวณมณฑลพิธี ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช และในวันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๙ น. ร่วมตักบาตรข้าวมธุปายาส เนื่องในวันวิสาขบูชา ณ มณฑลพิธี ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น ๓ โดยสามารถส่งข้าวมธุปายาสให้บุคคลที่คุณรักทั่วประเทศไทย โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ภายในงาน

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๘.๐๐ น. ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมปฏิบัติบูชาเนื่องในวันอัฏฐมีบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าร่วมงาน “วิสาขบูชา พุทธบารมี ประจำปี ๒๕๖๒” ได้ตั้งแต่วันที่

๒ พฤษภาคม- ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ มณฑลพิธี ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ ชั้น ๓ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Fanpage: วิสาขบูชา พุทธบารมี

 

ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะสื่อมวลชน ร่วมทำประชาคม ต.พุดซา รื้อ แหล่งโบราณสถานอารยธรรมขอม

ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะสื่อมวลชน ร่วมทำประชาคม ต.พุดซา รื้อ แหล่งโบราณสถานอารยธรรมขอม

ที่ผ่านมา  ดร.สุรสิทธิ์ สิงห์หลง  ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วย นายฐิติรัตน์ พงษ์พุทธรักษ์  นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ไปยังที่ทำการเทศบาลตำบลพุดซา  เพื่อหารือและขอมติการรื้อฟื้นตำนานเมืองโบราณของตำบลพุดซา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

นายเกรียงศักดิ์  นาคหฤทัย  นายกเทศบาลตำบลพุดซา  พร้อมด้วยนายประเสริฐ  เชยพุดซา  กำนันตำบลพุดซา  พร้อมคณะผู้นำท้องถิ่น และประชาชนได้ให้การต้อนรับ ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  และนายฐิติรัตน์  พงษ์พุทธรักษ์ นายกสมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วยคณะผู้สื่อข่าวจากหลายสำนัก  เพื่อร่วมรับฟังการทำประชามคมเพื่อหารือ และขอความคิดเห็นจากคนในท้องที่ เรื่อง การยกแหล่งโบราณอารยธรรมขอม ที่มีอายุยืนยาว เป็นสถานที่ให้พี่น้องประชาชน ได้เข้ามากราบสักการะ และเพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป  รวมทั้งยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

ปัจจุบัน  บ้านพุดซา  อยู่ในพื้นที่การรับผิดชอบ ของเทศบาลตำบลพุดซา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  ทั้งที่ความจริงบ้านพุดซาแห่งนี้มีเรื่องราว  ตำนานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เป็นโบราณสถานที่ค้นพบสถาปัตยกรรมในสมัยเกาะแกร์  ที่ผสมผสานมาถึงยุค นครวัต – บายน หรือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึง 18 โดยมีอายุโบราณทางด้านวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ก่อนยุคปราสาทหินพิมาย

นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว  ยังมีบึงขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า  2,500 ไร่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  “บึงพุดซา”  ที่เล่าขานกันว่าเป็นบึงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก  และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ต้องจมอยู่ใต้บาดาลจนกระทั่งต้องสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรขึ้นเป็นจำนวนมาก  เพื่อหวังจะให้หมู่บ้านแห่งนี้พ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม

เมื่อราวปี 2478 กรมศิลปากรได้เดินทางมาสำรวจบริเวณบ้านพุดซาบ้างแล้ว   พร้อมได้ขึ้นทะเบียนและปักปันอาณาเขตโบราณสถานไว้ด้วย  จากอดีตจนถึงปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย  เนินดินที่กลบซากปรักหักพังอยู่อย่างไร  ก็ยังอยู่อย่างนั้น องค์พระพุทธรูปที่ถูกเก็บ กระจายอยู่ยังวัดต่าง ๆ และบ้างก็ว่ากันว่าสูญหายกันไปมิใช่น้อย

บ้านพุดซา บริเวณที่ตั้งของวัดปรางค์ทองในปัจจุบัน  สันนิษฐานกันว่า  อดีตเคยเป็นปราสาทของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ายโศวรมัน แห่งอาณาจักรขอม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่  15  ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบขอม  ก่อสร้างด้วยอิฐ  มีการบันทึกไว้ว่า  สภาพของปราสาทเมื่อปี 2521 ยังคงเห็นส่วนฐานปราสาทที่ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงสลักเป็นฐานบัวรองรับปราสาทหลังทิศใต้ (เดิมกรมศิลปากรขุดแต่งพบฐานบัวรองรับปราสาทอิฐ 3 หลัง เรียงตัวในแกนทิศเหนือ – ใต้  สำหรับปราสาทประธาน(หลังกลา)และปราสาทหลังทิศเหนือพังเสียหายหมดแล้ว) ปัจจุบันได้ถมดินรอบปราสาทเหนือระดับฐานบัว  อย่างไรก็ตาม ปราสาทดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น  3  ส่วน  คือ ส่วนฐาน  ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด

ในบริเวณวัดปรางค์ทอง  ยังได้พบชิ้นส่วนของโบราณสถานประเภทหินทรายแดง  หินทรายขาว สลักเป็นหน้าทับหลัง  เสาประดับกรอบประตู ลูกกรงหน้าต่าง ฐานประติมากรรม  กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากภายในวัด  อาทิ  ทับหลัง ซึ่งวางอยู่ด้านหน้าปราสาทบริวาร มีภาพที่ลบเลือนมาก และดินถมขึ้นเกือบครึ่งแผ่น  ที่กึ่งกลางภาพมีรูปบุคคลนั่งชันเข่า เหนือสัตว์พาหนะ (อาจเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอรวัณ) มีท่องพวงมาลัยออกมาจากกึ่งกลางทับหลัง  เป็นวงโค้งเล็กน้อยเหมือนถูกกดไว้ด้วยน้ำหนักคล้ายกับทับหลังที่จัดแสดงที่สำนักงานอุทยานปราสาทพนมรุ้ง  ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์  อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15

ทับหลังรูปพระวิษณุทรงครุฑ  ซึ่งเก็บไว้บนศาลาวัด  ที่กึ่งกลางภาพสลักภาพพระวิษณุ (พระนารายณ์) ทรงครุฑนั้น ก็ยุคนาคสองตัวที่ทอดยาวตลอดทั้งสองข้างของทับหลัง  ทำนองเดียวกับลายท่องพวงมาลัย ปลายท่องพวงมาลัยเป็นนาคสามเศียรซึ่งหันหน้าออกมาเบื้องหน้า และนาคแต่ละเศียรมีมงกุฎลายใบไม้เป็นเครื่องประดับเหนือท่อนพวงมาลัยสลักเป็นรูปใบไม้ม้วนห้อยตกลงมาจนถึงแนวล่างสุด  สลักเป็นแนวกลับบัวเช่นกัน  ลวดลายดังกล่าวเหมือนกับทับหลังซึ่งที่ปราสาทพนมวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้  สถานที่แห่งนี้ ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่สำคัญ ที่ชาวบ้านให้ขนานนามว่า  เป็นเมืองบาดาล หรือเมืองพญานาค  จึงเป็นที่มาของการจัดทำประชาคมในครั้งนี้  โดย ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครราชสีมา  ที่พร้อมจะช่วยผลักดันให้สถานที่แห่งนี้  เป็นเมืองของการท่องเที่ยวเชิงอารยธรรม อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

 

ชมภาพบรรยากาศการประชาคม

 

ม..เทคโนฯโคราช จับมือกับเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย เปิดโอกาสให้ทางสภาแพทย์แผนไทยร่วมวิจัย”กัญชาเป็นยา”

ม..เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา จับมือกับเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย เปิดโอกาสให้ทางสภาแพทย์แผนไทยร่วมวิจัย”กัญชาเป็นยา”


วันที่ 23 เมษายน 2562 ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเป็นยา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และ คณะอาจารย์ฝ่ายวิจัยของคณะฯ ได้ร่วมประชุมปรึกษาหากับ ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย พ.ท.ดร.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่ออออนไลน์ภาคอีสาน ในฐานะรองประธานเครือข่ายฯ นายกฤตนัน พันธุ์อุดม กรรมการสภาแพทย์แผนไทย อุปนายกสมาคมชะมดไทย รองประธานเครือข่ายฯ นายประดิษฐ์ บุญเชิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกกัญชาไทย เลขานุการเครือข่ายฯ นางวดี พันธุ์อุดม แพทย์แผนไทยผดุงครรภ์ไทย กรรมการเครือข่ายฯ ผศ.ดร.อานนท์ แสนน่าน ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย นายสมชัย แสงทอง รอง ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย ภาคเหนือ นางนิตยา นาโล รอง ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย ภาคอีสาน นายศักดิ์ชาย พรหมโท ประธานผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(ผรท.) นางธนภัทร พันธวาส ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนภาคอีสาน และ ตัวแทนประธานวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือและอีสาน 29 จังหวัด เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อวางกรอบนโยบายในการวิจัยกัญชามาเป็นยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แพทย์แผนไทย และ หมอชาวบ้าน ตาม พ.ร.บ.กัญชา
จากการที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ประกาศชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตผลิต นำเข้า และส่งออก “กัญชา” ซึ่งกฎหมายอนุญาตไว้ 7 กลุ่ม ดังนี้ 1. หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด สภากาชาด 2. ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนด 3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย และจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ 4. เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมกันดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา 5. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6. ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องพกพาติดตัวเพื่อใช้รักษาโรค 7. ผู้ขออนุญาตอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย กรณีเป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องมีสัญชาติไทยและมีสำนักงานในประเทศไทย


ด้วยเหตุนี้เองทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สภาแพทย์แผนไทย องค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์แผนไทย” ที่ผ่านมาประสานงานดำเนินงานตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.กัญชา ที่จะสามารถทำให้ “กลุ่มเกษตรกรปลูกกัญชา”ได้และ “แพทย์แผนไทยทำตำรับยา” ได้อย่างถูกต้องไม่ผิดกฎหมาย ตามประกาศ พ.ร.บ.กัญชาในข้อ 4.ว่า “เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมกันดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา” ทาง “เครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย จึงขอความร่วมมือและร่วมประสานงานกับทาง “คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนคราชสีมา” ได้เปิดดำเนินการจัดสรรงบประมาณวิจัย “กัญชาเป็นยาตามตำรับแพทย์แผนไทย”
ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา หัวหน้าโครงการวิจัยกัญชาเป็นยา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ทางภาคประชาชนตื่นตัวกับการนำเอากัญชามาเป็นยา เพื่อรักษาตัวเองและผู้อื่น ทางเราก็พร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่จึงได้เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือพร้อมกับเชิญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และอาจารย์ฝ่ายวิจัยเรื่องนี้มาร่วมประชุมด้วย เพราะที่ผ่านมาตนเองได้เดินทางหาความรู้ไปตามจุดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทราบว่า กัญชา”เป็นพืชในตระกูล Cannabis ที่สามารถจำแนกออกมาได้อีก 3 ชนิด ได้แก่ 1.Cannabis Indica : มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย สูงไม่เกิน 2 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะสั้นและกว้าง เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น หรือการปลูกในร่ม นิยมปลูกเพื่อนำดอกมาใช้สกัดเป็นน้ำมันทางด้านการแพทย์ และนำมาใช้เพื่อการผ่อนคลาย 2.Cannabis Sativa : ลำต้นใหญ่ หนา และแข็งแรง อาจสูงได้มากถึง 6 เมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว สีเขียวอ่อน เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน นิยมปลูกเพื่อเอาใยมาใช้ทางด้านอุตสาหกรรม และนำเมล็ดมาสกัดน้ำมัน และ 3.Cannabis Ruderalis : ต้นเล็กคล้ายวัชพืช ใบมีลักษณะกว้างและเล็กผสมกัน เติบโตได้ดีทั้งในอากาศร้อนและเย็น พบได้มากในทวีปยุโรป ในอนาคตในการวิจัยเราจะต้องนำเอา “ต้นกัญชาทั้งต้น” มาทำการวิจัยว่าส่วนไหนเป็นยาด้านไหนบ้างตามตำรับแพทย์ปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เราจึงอยากจะเชิญคณะแพทย์จากสภาแพทย์แผนไทยเข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้ด้วย


ขณะที่ทาง อาจารย์ ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีทางภาคประชาชนได้ขอเสนอให้ทางคณะฯ ได้เป็นตัวแทนในการวิจัยความเป็นไปได้ของการนำเอากัญชามาเป็นยา อย่างถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.กัญชา และ ทางเราพร้อมสนับสนุนโดยจะมอบหมายให้ทาง ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ได้เป็นหัวหน้าคณะวิจัยและศึกษาข้อกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา เพราะถือได้ว่าเป็นเรื่องดีและละเอียดอ่อนพร้อมกับทำข้อมูลนำเสนอไปทางท่านอธิการฯ และ สภามหาวิทยาลัยฯ ต่อไป
ทางด้าน ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ไทย ได้กล่าวว่า วันนี้ถือได้ว่าพวกเราได้รับข่าวดีที่ทาง “คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา” พร้อมทำวิจัยกัญชาให้กับทางเครือข่ายฯ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และที่สำคัญ “เพื่อประโยชน์ของประชาชน” และยังเปิดโอกาสให้ทางคณะแพทย์แผนไทยเข้าร่วมวิจัยกัญชาตามตำรับยาแพทย์แผนไทยอีกด้วย ในส่วนของภาคประชาชนตนเองก็จะได้ประสานงานไปยัง “สหกรณ์” และ “วิสาหกิจชุมชน” ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายเตรียมความพร้อมและแจ้งไปยังประชาชนที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการรีบดำเนินการจัดตั้งกลุ่มไปขออนุญาตจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับทางสำนักงานเกษตรแต่ละอำเภอให้ถูกต้องตามกฎหมาย

สีสัน…งานป้ายเมืองโคราช ห้างดังขึ้นป้ายบอกทางบนดึก ที่อยู่หน้าอีกห้างหนึ่ง เรียกรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นทั่วเมือง

สีสันงานป้าย ‘เซ็นทรัล’ ผงาดป้ายหน้าห้างคู่แข่งหลังกวาดซื้อที่ดินด้านหน้า ‘เทอร์มินอลโคราช’

‘เซ็นทรัลพลาซาโคราช’ ไล่กวาดซื้อที่ดินหน้า ‘ห้างเทอร์มินอลโคราช’ เกือบหมด พร้อมขึ้นป้ายบอกทางด้านหน้าห้างเทอร์มินอลอีกด้วย ล่าสุด เซ็นทรัลทุ่มงบทำป้ายบอกทางใหม่ที่ใหญ่และไฉไลกว่าเดิม แบบไม่เกรงใจห้างคู่แข่งเอาซ่ะเลย ถ้าหากใครไปห้างเซ็นทรัลไม่ถูกก็มาดูป้ายได้ที่ด้านหน้าห้างเทอร์มินอลโคราชได้นะเจ้านาย


และไม่รู้ว่าที่ดินที่ซื้อไปจะทำการก่อสร้างอะไรอันที่จะทำการตลาดข่มคู่แข่งอย่างเทอร์มินอลห้างน้องใหม่ก็คอยติดตามดูเอาเองว่าสงครามห้างยักษ์จะต้องสู้ฟาดฟันกันอีกยาวนานแน่นอน
งานนี้ ถือว่าเป็นสีส้นงานป้ายเมืองโคราช และยังเป็นการสร้างรายยิ้มให้กับผู้ที่พบเห็นอีกด้วย

ท่องเที่ยวและกีฬาโคราช…จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ Mobile Application สื่อการเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวและสินค้า OTOP

สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ รุ่น 7 กลุ่มลิธัวเนีย ได้จัดการอบรมโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการ Mobile Application สื่อการเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวและสินค้า OTOP ในจังหวัดนครราชสีมา ที่โรงแรมโคราชโฮเท็ล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายสุรสิทธิ์ สิงห์หลง ท่องเที่ยวและการกีฬาจังหวัดนครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมาในแต่ละอำเภอ และ นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ รุ่น 7


โดย Mobile Application คือสื่อการเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวและสินค้า OTOP ในจังหวัดนครราชสีมา” ที่จะได้ร่วมกันพัฒนาโดยการนำแหล่งท่องเที่ยว ของดี ของขึ้นชื่อ สินค้าโอท็อปจากทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา รวบรวมไว้ในแอฟพลิเคชั่นเดียว ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำ และอบรมผู้หาข้อมูล โดยได้จัดอบรมเพื่อให้ผู้แทนของแต่ละอำเภอได้นำสิ่งเหล่านี้มารวบรวมและจัดทำ เพื่อเป็นคู่มือสำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา

ทั้งนี้ Mobile Application คือผลงานที่ทางนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ ได้ประยุกต์ความรู้ ความสามารถ ทรัพยากรที่มี สร้างโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศ หรือองค์กรในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเจาะจง เป็นเรื่องที่มีผลเพื่อส่วนรวม และสามารถนำไป ปฏิบัติได้จริง

>เสียงสัมภาษณ์<<

สถานพินิจโคราช…จัดงานสืบสานประเพณีไทย  สงกรานต์ 62

สถานพินิจโคราช…จัดงานสืบสานประเพณีไทย  สงกรานต์ 62

วันนี้ 11 มีนาคม  2562 สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา  จัดให้มีพิธีรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในเทศกาลวันสงกรานต์  ในโครงการวันสงกรานต์ ประจำปี 2562 โดยได้รับเกียรติจาก คุณศิริรัตน์  สีนวล  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมา  เป็นประธาน จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  จากนั้น นายบุญธรรม  รอบคอบ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการวันสงกรานต์

ทั้งนี้ นายฐิติรัตน์  พงษ์พุทธรักษ์  นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วย นายธนภัทร  แทนพลกรัง อุปนายกสมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

เนื่องด้วย  วันที่ 13 – 16 เมษายน 2562 เป็นเทศกาลสงกรานต์โดยการที่เด็กและเยาวชนจะได้แสดงออกถึงการสืบทอดประเพณีอันดีงามนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ทางสถานพินิตและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงได้ให้มีโครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาชน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน  พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ยาติหรือผู้ปกครอง ได้เข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย  เป็นที่ประทับใจ กับผู้ที่เข้ามาร่วมงานอย่างยิ่ง

 

โคราชเชิญชวนประชาชน ร่วมประเพณีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล ในวันสงกรานต์

โคราชเชิญชวนประชาชน ร่วมประเพณีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล ในวันสงกรานต์จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เทศบาลนครนครราชสีมา  ได้ฟื้นประเพณีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล ในวันสงกรานต์ หลังจากประเพณีนี้ได้ห่างหายไปตั้งแต่ปี 2522 หรือ 40  ปีก่อน หลังจากเมื่อวันสงกรานต์ปี 2560 ที่ผ่านมาได้รื้อฟื้นประเพณีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ และสรงน้ำพระ และในวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2562 ที่จะถึงนี้ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ได้เตรียมอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล อีกครั้ง ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยขบวนจะเริ่มจากวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร แห่องค์พระไปยังลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ผ่านถนนจอมพล ถนนประจักษ์ ถนนมหาดไทย และถนนราชดำเนิน เพื่อประกอบพิธีลอดซุ้มประตูชุมพล ก่อนขบวนองค์พระคันธารราษฎร์ จะวกกลับไปยังวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร

โดยมีกำหนดการตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 06.30 น.  มีพิธีตักบาตร ข้าวสารอาหารแห้ง  ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี   และเวลา 15.00 น. อัญเชิญพระคันธารราฐ หรือ พระปางขอฝน เป็นพระพุทธรูปสำคัญจากวัดพระนารายณ์ ขึ้นสู่ราชรถจัดขบวนแห่ให้ผู้ร่วมงานเดินตาม รอบเมืองตามเส้นทางที่กำหนดลอดซุ้มประตูเมืองให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้ถวายสรงน้ำ กราบไหว้สักการะ บูชา โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้จับชายผ้าพระ เดินตามขบวนกลับไปยังวัด จากนั้นจะมีการประกอบพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้สูงอายุ มีการก่อเจดีย์ทราย ซึ่งถือเป็นประเพณีสงกรานต์ดั่งเดิม ที่ประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ควรสืบสานและอนุรักษ์ไว้

โคราช ต้อนรับผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทย์ฯ ในพิธีเปิดจุดบริการพักรถ สงกรานต์

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุลรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้รับมอบหมายจาก นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ต้อนรับหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพิธีเปิดจุดบริการพักรถช่วงสงกรานต์ และร่วมปล่อยขบวนรถรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ 2562  ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา เปิดงาน Flora Tale @ วว.ลำตะคอง ร่วมรณรงค์ขับขี่อย่างปลอดภัย ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ บริการจุดพักรถ 24 ชั่วโมง

. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดงานจุดบริการพักรถช่วงสงกรานต์ Flora Tale @ วว.ลำตะคอง ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2562 บริการจุดพักรถ 24 ชั่วโมง เชิญชวน เลือกซื้อผลิตภัณฑ์งานวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อทดลองตลาด บริการนวดฟรี บริการสุขาเพื่อประชาชน จำหน่ายอาหารสินค้าโอทอปกว่า 30 ร้านค้า พร้อมจุดเช็คอินถ่ายภาพทุ่งปอเทือง พร้อมทั้งวิทยาลัยการอาชีพปากช่อง ได้จัดโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ จิตอาสาอาชีวะ บริการตรวจซ่อม รถฟรี เพื่อให้คนและรถได้พัก และร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นเกียรติ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยุคใหม่ มุ่งเน้นสร้างผลงาน และทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 นี้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม Flora Tale @วว.ลำตะคอง ในครั้งนี้ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนที่สัญจรผ่านถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นจุดร่วมบริการต่างๆ ประชาชนสามารถหยุดแวะพัก เพื่อผ่อนคลายก่อนเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญที่จะช่วยลดรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562
นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2560-61 ที่ผ่านมา หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต บาดเจ็บ ลำดับต้นๆ เกิดจากเมาแล้วขับ การขับรถเร็วเกินมาตรฐานกำหนด รวมถึงการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร แนวทางการดำเนินงานที่จังหวัดนครราชสีมาวางไว้ เพื่อป้องกันปัญหาคือ การอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน บังคับใช้กฎหมาย 3 ม 2 ข 1 ร อย่างเข้มข้น เน้น ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเมาสุราห้ามขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาด มอบขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการตรวจความพร้อมของรถและพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะที่ประจำทาง และไม่ประจำทาง ประชาสัมพันธ์รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 “งดสุรา พาครอบครัวทำบุญ”
โดยในโอกาสนี้ จังหวัดนครราชสีมา ได้ปล่อยขบวนรถรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 โดยมีภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมรณรงค์ และขอเชิญชวนผู้ใช้รถใช้ถนนที่เดินทางผ่านจังหวัดนครราชสีมา สามารถแวะที่จุดบริการพักรถช่วงสงกรานต์ Flora Tale @ วว.ลำตะคอง”ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2562 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

cr.ภาพ  ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา / สวท.นม

โคราชจัดพิธีทำน้ำอภิเษก  ณ  วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือวัดกลางนคร อ.เมือง จ.นครราชสีมา

โคราชจัดพิธีทำน้ำอภิเษก  ณ  วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือวัดกลางนคร อ.เมือง จ.นครราชสีมา

วันที่ 8 เม.ย. 2562 จังหวัดนครราชสีมาจัดพิธีทำน้ำอภิเษก โดยนิมนต์ 4 เกจิอาจารย์ ชื่อดังของจังหวัดนครราชสีมา  นั่งเจริญจิตภาวนา  อธิษฐานจิต  และสวดภาวนาที่บริเวณด้านหน้าวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือวัดกลางนคร อ.เมือง จ.นครราชสีมา


นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการได้ร่วมกันประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวง ฯ รัชกาลที่ 10 โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา   ได้เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาฤกษ์   พราหมณ์อ่านโองการบูชาฤกษ์ จากนั้นคณะผู้ว่าราชการจังหวัด  ได้เข้าสู่วิหารหลวง สถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ซึ่งได้กำหนดฤกษ์เวลา 17.00 น.  โดยพระธรรมวรนายก ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค  11  เป็นประธานพร้อมพระสังฆาธิการ  จำนวน  30 รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาจุดเทียนชัย เจ้าหน้าที่ประโคมฆ้องชัย วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์

             จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นิมนต์  พระเกจิ และพระเถราจารย์   เจริญจิตภาวนาอธิษฐานและสวดภาณวารประกอบด้วย    พระครูอนุวัฒน์ ชินวงศ์ หรือหลวงพ่อจอย วัดโนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา   ,พระครูประโชติปัญญากรหรือหลวงพ่อคูณ วรปญุโญ วัดบัลลังก์ อ.โนนไทย   , พระครูสังฑรักษ์สุรเดช   อินทวัณโณ  วัดพระนารายณ์มหาราช  ,พระครูประโชติบุญญาภรณ์หรือพระอาจารย์ประทวน  ประธานสงฆ์วัดถ้ำดาวเขาแก้ว ได้ผลัดเปลี่ยนนั่งเจริญจิตภาวนาอธิษฐานจิตและสวดภาณวารจนถึงเวลาอันควร

   

           อนึ่งน้ำที่ใช้ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกได้มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนครราชสีมา อยู่ที่ต้นน้ำลำตะคอง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดสาขาลุ่มน้ำมูล แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวโคราช โดยเป็นน้ำผุดกลางผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ 5 ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่มีตำนานเล่าขานมากมายทั้งยังเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย นายวิเชียร จันทรโณทัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมหัวหน้าส่วนราชการได้เดินเท้าจากหอดูสัตว์หนองผักชี ลัดเลาะไปตามทางเดินป่าและข้ามคลองน้ำธรรมชาติไปที่เหนือฐานปฏิบัติการเฉพาะกิจคลองอีเฒ่า ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธี ฯ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง ก่อนจะเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปวางบนเสลี่ยงก่อนจะตั้งขบวนเดินเท้าออกมาที่ตั้งขบวนรถ บริเวณถนนธนรัชต์ ทางเข้าหนองดูสัตว์หนองผักชี เชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นรถแล้ววางบนมลฑป ขบวนรถได้เคลื่อนออกมาจากถนนธนรัชต์ โดยมีนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นั่งอยู่บนรถเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นรถบรรทุกหกล้อขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ได้ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ขบวนรถได้เคลื่อนมาที่หน้าว่าการอำเภอปากช่องและทำพิธีส่งมอบและรับมอบ พานธูป เทียนแพจากนายครรชิต ฯ หน.เขาใหญ่ ให้นายอำเภอปากช่อง ขบวนรถได้เคลื่อนมาตามเส้นทางมาที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน เข้าสู่ลานกิจกรรม อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อ.เมือง นครราชสีมา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและทุกภาคส่วนได้ร่วมจัดกิจกรรมสมโภช เทิดทูนสถาบันและความรักความรักสามัคคีอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ จากนั้นได้เชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นวางบนเสลี่ยง เพื่อให้เจ้าหน้าที่หามลอดเข้าเมืองทางประตูชุมพลไปที่พระวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร อ.เมือง นครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกและทำพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ในวันที่ 9 เมษายน 2562  และวันที่ 10-11 เมษายน  2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  จะเชิญคนโทน้ำที่ได้ทำพิธีอภิเษก  นำไปส่งมอบให้ที่กระทรวงมหาดไทยต่อไป