ม.ราชภัฏโคราชนำทัพเปิดโลกดึกดำบรรพ์ จัดงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 6 100 ปีแห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัยรัชกาลที่ 6
วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (สสปน.) องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครราชสีมา วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว งานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 6 : 100 ปีแห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัยรัชกาลที่ 6 Fossil Festival VI : 100 Years of petrified Wood and Elephant Conservation from the Reign of King Rama VI ณ ห้องประชุมลำตะคอง 1 โรงแรมแคนทารี โคราช โดยได้รับเกียรติจาก นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา, นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน (อพท.),
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้ให้ถ้อยแถลงในการจัดงาน พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดการเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและการจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราชและที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงาน, ดร.อัปสร สอาดสุด ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี, นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ ดร.อลงกต ชูแก้ว ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ ดำเนินรายการโดย อ.นิรวิทย์ เพียราษฎร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งเรียนรู้และเสริมสมรรถะมนุษย์
งานฟอสซิลเฟสติวัล เป็นงานที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ดำเนินการจัดมาเป็นประจำทุก 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในคุณค่า รวมทั้งร่วมกันอนุรักษ์มรดกฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ของจังหวัดนครราชสีมา ให้คงอยู่และเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ในปีนี้ ทางสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “100 ปี แห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยจากสมัยรัชกาลที่ 6”
ด้วยแนวคิดการอนุรักษ์ฟอสซิลในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน มีปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อรัชกาลที่ 6 หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ เสด็จมาตรวจการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา – อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2464 ณ บริเวณ สะพานดำ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำมูล ในบริเวณบ้านะกุดขอน ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา พระยารำไพพงศ์บริพัตร วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้พร้อมกับชาวบ้านได้นำฟอสซิลจากไม้กลายเป็นหินจากท้องร่องแม่น้ำมูล น้อมเกล้าฯ ถวายแด่ ร.6 แต่พระองค์ท่านกลับแนะนำให้เก็บรักษาไว้ในท้องที่ พระยารำไพพงศ์บริพัตรจึงได้สร้างอนุสรณ์สถานการเสด็จมาตรวจการก่อสร้างทางรถไฟของ ร.6 ในบริเวณหัวสะพาน แล้วนำไม้กลายเป็นหินท่อนดังกล่าวฝังตรึงไว้บนยอดอนุสรณ์สถาน ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นเป็นสภาพเดิมตราบกระทั่งปัจจุบัน อนุสรณ์สถานไม้กลายเป็นหิน ร.6 นี้จึงเป็นอนุสรณ์การอนุรักษ์ฟอสซิลหรือไม้กลายเป็นหินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และชุมชนชาวท่าช้างมาครบ 100 ปี ในวันที่ 4 ธันวาคม 2564 นี้ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเอชียตะวันออกเฉียงใต้
การจัดงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 6 กำหนดจัดในระหว่างวันที่ 4 – 10 ธันวาคม 2564 ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในรูปแบบ Hybrid โดยมีกิจกรรมทั้งรูปแบบของ Onsite ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และระบบ Online โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ
1. การแถลงข่าวการจัดงานฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 6 และการเสวนาการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นกับการพัฒนาที่ยั่งยืน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ Hybrid (Onsite and Online)
2. พิธีเปิดงาน ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 6 พร้อมชมนิทรรศการชุด “โคราช : มหานครแห่งบรรพชีวินโลก World Paleontopolis” , “จีโอพาร์ค” โดยกรมทรัพยากรธรณี, และ นิทรรศการ “ไม้กลายเป็นหินแปลก”
3. งานสัมมนาทางวิชาการ บรรพชีวิน “100 ปี อนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลในโคราช”
การเสวนาทงวิชาการหัวข้อ “ฟอสซิลแห่งสยามกับการอนุรักษ์”, “ฟอสซิลแห่งสยามกับการอนุรักษ์และโคราชมหานครแห่งบรรพชีวินโลก (World Paleontopolis)”
การนำเสนอผลงานทางวิชาการ “ร่วมเรียนรู้สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์กับนักวิจัย” และ “พิพิธภัณฑ์ฟอสซิลเพื่อการนันทนาการและการเรียนรู้” วันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบ Hybrid
4. พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ร่วมกัย กรมทรัพยากรธรณีและภาคีเครือข่าย วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ในรูปแบบ Hybrid (Onsite and Online)
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “ทัวร์เที่ยวทิพย์ท่องเที่ยวมหานครแห่งบรรพชีวิน”, “กิจกรรมท่องเที่ยวไปในพิพิธภัณฑ์ฯ กิจกรรม DIY By Khorat Fossil Museum พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจตามแต่ละวัน เช่น ตอน ไดโนเสาร์สิรินธรน่าโคราชเอนซิส และสยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ, “เติมสีสันให้ช้าง” และงานแสดงสินค้าชุมชนและผลผลิตทางการเกษตร “ไม้หิน กรีน มาร์เก็ต” พร้อมชมผลานทางศิลปะ โดยงาน Thailand Art Biennale 2021
การจัดงานในครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาที่ได้ดำเนินการค้นพบและอนุรักษ์ซากดุกดำบรรพ์ และในปี พ.ศ.2564 ครบรอบ 100 ปี จึงเป็นโอกาสดีที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และภาคีในจังหวัดนครราชสีมาจะได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้าใจเรื่องซากดึกดำบรรพ์ ตลอดจนการกระตุ้นให้ชาวจังหวัดนครราชสีมา ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนคนทั่วไปได้ตระหนักในความสำคัญของซากดุกดำบรรพ์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาต่อยอดในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายของการจัดงานที่สำคัญ คือ การสร้างความตระหนักในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก หรือ SDGs