จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

หลายภาคส่วนโคราช

หารือราคาข้าวตกต่ำ

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานที่ประชุม  พร้อมนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา  ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดนครราชสีมา และผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่ออกสู่ตลาดช่วงนี้ เป็นข้าวในพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้คุณภาพต่ำและมีความชื้นสูงร้อยละ 25-27  ซึ่งราคารับซื้อปกติเป็นข้าวคุณภาพ ตันละ 8,000-8,500  บาท  จึงขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร 

ขณะที่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับโดยมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 หากเกษตรกรขายได้ต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกันไว้ก็สามารถรับเงินส่วนต่างได้  ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่แจ้งเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะได้รับเงินส่วนต่างตันละ 4,135.77 บาท โอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง และจะมีการประกาศกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยทุกๆ 7 วัน

สำหรับผลผลิตข้าว จังหวัดนครราชสีมามีเกษตรขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ จำนวน 3,114,495 ไร่ คาดว่าจะเสียหายจากภาวะอุทกภัย จำนวน 603,339 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ในส่วนนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2564 และระบุวันที่คาดว่าเก็บเกี่ยวก่อน 15 ตุลาคม 2564 และงวดสุดท้ายจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินส่วนต่างด้วย  โดยผลผลิตข้าวจะเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดมากตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นไม่เกินกลางเดือนธันวาคม 2564 

ในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้เตรียมมาตรการรองรับ คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางของตนเองและนำเงินสินเชื่อไปใช้จ่ายโดย ธ.ก.ส. ไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5 เดือน เมื่อสถานการณ์ราคาดีขึ้นเกษตรกรสามารถชำระหนี้และนำข้าวเปลือกที่เก็บไว้ไปจำหน่ายได้ หรือหากราคาไม่ดีขึ้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการระบายและรับภาระส่วนต่าง นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวมรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยมีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้สถาบันเกษตรกรนำไปรวบรวมข้าวเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปต่อไป  รวมทั้งยังมีมาตรการคู่ขนาน คือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ เก็บสต๊อกในรูปข้าวสารหรือข้าวเปลือก รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการเก็บสต๊อกไว้ในอัตราร้อยละ 3  ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ 60-180 วัน นับแต่วันที่ซื้อ (เบิกจ่ายเงินหรือออกตั๋วสัญญา) เพื่อรับซื้อข้าวเปลือก ปีการผลิต 2564/65

ทั้งนี้​ สำนักงาน​พาณิชย์​จังหวัด​นครราชสีมา​ จะได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด เรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564  เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับอำเภอทุกอำเภอเพื่อสื่อสารกับเกษตรกรอีกครั้ง

#ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา