เยียวยาภัยแล้งทันใจ รมต.เทวัญลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยภัยแล้ง ในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท

เยียวยาภัยแล้งทันใจ รมต.เทวัญลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยภัยแล้ง ในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท

 

วันนี้ (17 มกราคม 2563) เวลา 10.00 น. ณ เทศบาลตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา นายเทวัญ  ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบไปด้วย นายธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายวัชรพล โตมรศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมาเขต 2, นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ภาวะฝนแล้ง)​ ด้านพืช ปี 2562 โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ รองนายกเทศมนตรีตำบลพุดซา ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานสรุปในการพบปะพี่น้องประชาชน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้อาจมีภาวะฝนทิ้งช่วงเหมือนกับปีที่แล้ว และอาจประสบปัญหาน้ำแล้งที่รุนแรงกว่า จึงอยากรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และงดปลูกข้าวนาปรังเพื่อลดการใช้น้ำในช่วงน้ำแล้ง ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน สั่งการให้เร่งเยียวยาผู้ประสบภัยแล้งโดยด่วน และขอความร่วมมือภาคราชการและประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อที่จะฝ่าวิกฤติในปีนี้ไปให้ได้  ในส่วนของรัฐบาลได้ผลักดันงบประมาณในการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำในปีนี้ กว่า 3,000 ล้านบาท

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้  รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณความช่วยเหลือชดเชยความเสียหาย โดยอนุมัติค่าใช้จ่ายเงินทดรองราชการในส่วนของอำเภอเมืองนครราชสีมา ให้แก่ 20 ตำบล 133 หมู่บ้าน พื้นที่เสียหาย 45,387.25 ไร่ เกษตรกร 5,281 ราย วงเงินช่วยเหลือ 60,879,150.50 บาท นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อให้เกษตรกรพิจารณาขอรับการช่วยเหลือ  ในส่วนของอำเภอเมืองนครราชสีมา เกษตรกรได้ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 2 โครงการได้แก่  โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพพันธ์ข้าว จำนวน 4,627 ครอบครัว และอาชีพด้านประมงจำนวน 190 ราย

ภายหลังพิธีมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปตรวจสอบสถานการณ์น้ำที่บริเวณบึงพุดซา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง พบว่าปริมาณน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ทางจังหวัดจะรวบรวมข้อมูลและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

เทศบาลตำบลพุดซา ขอเชิญร่วมงาน เช้ายันเย็น ในวันลอยกระทง ประจำปี 2562

เทศบาลตำบลพุดซา ขอเชิญร่วมงาน เช้ายันเย็น ในวันลอยกระทง

 

เทศบาลตำบลพุดซา  อ.เมือง จ.นครราชสีมา  ขอเชิญทุกท่านรวมงาน         เดิน – วิ่ง การกุศล มินิมารธอน  PUDSA  RUNNING ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมทำบุญก่อสร้างศาลพ่อขุน องค์ ณ บึงพุดซา ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา  ในวันจันทร์ที่  11  พฤศจิกายน  2562 เวลา 05.30 น. ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร โดยมีค่าสมัคร  300 บาท  และจะได้รับเสื้อ + เหรียญ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  เทศบาลตำบลพุดซา ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร  044-215 444

นอกจากนี้เทศบาลตำบลพุดซา ยังขอเชิญชวนร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง  ประจำปี 2562 ณ บริเวณ ลานหน้าบึงพุดซา ภายในงานท่านจะได้พบกับการประกวดกระทงสวยงาม  ประกวดนางนพมาศ หนูน้อยนพมาศ รำวงย้อนยุค และมวยมันส์ ชมฟรี  ศึกมวยไทย สืบสานประเพณีลอยกระทง อาทิ สามเอ  สมศักดิ์ก่อสร้าง  พบกับ อภิเดช  ก.อดิศร  ,ชาญเดช  ก.อดิศร พบกับ โทนี่ ช.ยิ่งยศ  และสิงห์ทอง  ส.ยิ่งเจริญการช่าง พบกับ ศิษย์รัก ส.ตะโกทอง เป็นต้น

 

ผอ ท่องเที่ยวลงพื้นที่บ้านพุดซา ประชาคม ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอมโบราณ

ผอ ท่องเที่ยวลงพื้นที่บ้านพุดซา ประชาคม ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอมโบราณ

 

เมื่อวันที่  27 พฤษภาคม  2562  ที่ห้องประชุมสภา เทศบาลตำบลพุดซา  ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วย นายฐิติรัตน์  พงษ์พุทธรักษ์  นายกสมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา  ลงพื้นที่เทศบาลตำบลพุดซา  เพื่อร่วมรับฟังการทำประชามคมเพื่อหารือ และขอความคิดเห็นจากคนในท้องที่ เรื่อง การยกแหล่งโบราณอารยธรรมขอม ที่มีอายุยืนยาว เป็นสถานที่ให้พี่น้องประชาชน ได้เข้ามากราบสักการะ และเพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป โดยมี นายเกรียงศักดิ์  นาคหฤทัย  นายกเทศบาลตำบลพุดซา  นายประเสริฐ  เชยพุดซา  กำนันตำบลพุดซา  พ.ต.ท.เผด็จศักดิ์  รัตนาพันธุ์ รอง ผกก.(สอบสวน)สภ.พลกรัง และ นายบุญกฤษฐิพัฒน์  หาญขุนทด  พร้อมคณะผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟัง

ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะสื่อมวลชน ร่วมทำประชาคม ต.พุดซา รื้อ แหล่งโบราณสถานอารยธรรมขอม

ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะสื่อมวลชน ร่วมทำประชาคม ต.พุดซา รื้อ แหล่งโบราณสถานอารยธรรมขอม

ที่ผ่านมา  ดร.สุรสิทธิ์ สิงห์หลง  ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วย นายฐิติรัตน์ พงษ์พุทธรักษ์  นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ไปยังที่ทำการเทศบาลตำบลพุดซา  เพื่อหารือและขอมติการรื้อฟื้นตำนานเมืองโบราณของตำบลพุดซา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

นายเกรียงศักดิ์  นาคหฤทัย  นายกเทศบาลตำบลพุดซา  พร้อมด้วยนายประเสริฐ  เชยพุดซา  กำนันตำบลพุดซา  พร้อมคณะผู้นำท้องถิ่น และประชาชนได้ให้การต้อนรับ ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  และนายฐิติรัตน์  พงษ์พุทธรักษ์ นายกสมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วยคณะผู้สื่อข่าวจากหลายสำนัก  เพื่อร่วมรับฟังการทำประชามคมเพื่อหารือ และขอความคิดเห็นจากคนในท้องที่ เรื่อง การยกแหล่งโบราณอารยธรรมขอม ที่มีอายุยืนยาว เป็นสถานที่ให้พี่น้องประชาชน ได้เข้ามากราบสักการะ และเพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป  รวมทั้งยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

ปัจจุบัน  บ้านพุดซา  อยู่ในพื้นที่การรับผิดชอบ ของเทศบาลตำบลพุดซา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  ทั้งที่ความจริงบ้านพุดซาแห่งนี้มีเรื่องราว  ตำนานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เป็นโบราณสถานที่ค้นพบสถาปัตยกรรมในสมัยเกาะแกร์  ที่ผสมผสานมาถึงยุค นครวัต – บายน หรือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึง 18 โดยมีอายุโบราณทางด้านวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ก่อนยุคปราสาทหินพิมาย

นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว  ยังมีบึงขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า  2,500 ไร่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  “บึงพุดซา”  ที่เล่าขานกันว่าเป็นบึงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก  และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ต้องจมอยู่ใต้บาดาลจนกระทั่งต้องสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรขึ้นเป็นจำนวนมาก  เพื่อหวังจะให้หมู่บ้านแห่งนี้พ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม

เมื่อราวปี 2478 กรมศิลปากรได้เดินทางมาสำรวจบริเวณบ้านพุดซาบ้างแล้ว   พร้อมได้ขึ้นทะเบียนและปักปันอาณาเขตโบราณสถานไว้ด้วย  จากอดีตจนถึงปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย  เนินดินที่กลบซากปรักหักพังอยู่อย่างไร  ก็ยังอยู่อย่างนั้น องค์พระพุทธรูปที่ถูกเก็บ กระจายอยู่ยังวัดต่าง ๆ และบ้างก็ว่ากันว่าสูญหายกันไปมิใช่น้อย

บ้านพุดซา บริเวณที่ตั้งของวัดปรางค์ทองในปัจจุบัน  สันนิษฐานกันว่า  อดีตเคยเป็นปราสาทของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ายโศวรมัน แห่งอาณาจักรขอม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่  15  ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบขอม  ก่อสร้างด้วยอิฐ  มีการบันทึกไว้ว่า  สภาพของปราสาทเมื่อปี 2521 ยังคงเห็นส่วนฐานปราสาทที่ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงสลักเป็นฐานบัวรองรับปราสาทหลังทิศใต้ (เดิมกรมศิลปากรขุดแต่งพบฐานบัวรองรับปราสาทอิฐ 3 หลัง เรียงตัวในแกนทิศเหนือ – ใต้  สำหรับปราสาทประธาน(หลังกลา)และปราสาทหลังทิศเหนือพังเสียหายหมดแล้ว) ปัจจุบันได้ถมดินรอบปราสาทเหนือระดับฐานบัว  อย่างไรก็ตาม ปราสาทดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น  3  ส่วน  คือ ส่วนฐาน  ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด

ในบริเวณวัดปรางค์ทอง  ยังได้พบชิ้นส่วนของโบราณสถานประเภทหินทรายแดง  หินทรายขาว สลักเป็นหน้าทับหลัง  เสาประดับกรอบประตู ลูกกรงหน้าต่าง ฐานประติมากรรม  กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากภายในวัด  อาทิ  ทับหลัง ซึ่งวางอยู่ด้านหน้าปราสาทบริวาร มีภาพที่ลบเลือนมาก และดินถมขึ้นเกือบครึ่งแผ่น  ที่กึ่งกลางภาพมีรูปบุคคลนั่งชันเข่า เหนือสัตว์พาหนะ (อาจเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอรวัณ) มีท่องพวงมาลัยออกมาจากกึ่งกลางทับหลัง  เป็นวงโค้งเล็กน้อยเหมือนถูกกดไว้ด้วยน้ำหนักคล้ายกับทับหลังที่จัดแสดงที่สำนักงานอุทยานปราสาทพนมรุ้ง  ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์  อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15

ทับหลังรูปพระวิษณุทรงครุฑ  ซึ่งเก็บไว้บนศาลาวัด  ที่กึ่งกลางภาพสลักภาพพระวิษณุ (พระนารายณ์) ทรงครุฑนั้น ก็ยุคนาคสองตัวที่ทอดยาวตลอดทั้งสองข้างของทับหลัง  ทำนองเดียวกับลายท่องพวงมาลัย ปลายท่องพวงมาลัยเป็นนาคสามเศียรซึ่งหันหน้าออกมาเบื้องหน้า และนาคแต่ละเศียรมีมงกุฎลายใบไม้เป็นเครื่องประดับเหนือท่อนพวงมาลัยสลักเป็นรูปใบไม้ม้วนห้อยตกลงมาจนถึงแนวล่างสุด  สลักเป็นแนวกลับบัวเช่นกัน  ลวดลายดังกล่าวเหมือนกับทับหลังซึ่งที่ปราสาทพนมวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้  สถานที่แห่งนี้ ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่สำคัญ ที่ชาวบ้านให้ขนานนามว่า  เป็นเมืองบาดาล หรือเมืองพญานาค  จึงเป็นที่มาของการจัดทำประชาคมในครั้งนี้  โดย ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครราชสีมา  ที่พร้อมจะช่วยผลักดันให้สถานที่แห่งนี้  เป็นเมืองของการท่องเที่ยวเชิงอารยธรรม อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

 

ชมภาพบรรยากาศการประชาคม