มทส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัด “มวยโคราชประกาศศักดา”สืบสานและยกระดับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ต่อยอด Soft Power โคราช

     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ ร่วมกับ หน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “มวยโคราชประกาศศักดา” เผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวโคราช ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เครือข่ายธุรกิจและเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ สร้างสำนึกท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ต่อยอดให้เป็น Soft Power ของจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ณ โคราช ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช จังหวัดนครราชสีมา

นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิด และ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา นางสาวอารีรัตน์ มนตรีปรีชาชัย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (TCEB) ร่วมกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายสวัสดิ์ มังกรวัฒน์ นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดนคราชสีมา ดร.เช้า วาทะโยธา นายกสมาคมมวยโคราช นายสุริยา ปิ่นรัตน์ ผู้อำนวยการงานปฏิบัติการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นางสาวนิสา ชาภู่พวง ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช และผู้มีเกียรติร่วมงาน โดยมี อาจารย์ ดร.มัลลิกา สังข์สนิท รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรม

และความเป็นผู้ประกอบการ มทส. ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ และหัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากมวยโคราช เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น” กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน ได้แก่ เสวนาเม้าท์มอยเมืองมวย

“โอกาสในการเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยในต่างประเทศ” โดย ดร.เช้า วาทโยธา “เส้นทาง บาดแผล และรอยยิ้มของนักสู้” โดย พันโทสมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 “จากสังเวียนสู่ธุรกิจ” โดย ค่าย ช.ชนะมวยไทย และนายกสมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา การแสดงสาธิตและการแข่งขันคีตะมวยโคราช ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ศึกชิงชัย Korat Fight ของนักมวยมืออาชีพ รวมทั้งนิทรรศการสืบตำนานมวยโคราช และบูทกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เกมส์มวยโคราช Art Toy มวยโคราช ฝึกท่ามวยโคราชกับผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมมวยโคราช เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้และสัมผัสกับศิลปะมวยโคราชอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ “มวยโคราชประกาศศักดา” เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากมวยโคราช เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น” โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ (Center of Excellence for Entrepreneurship) มทส. หรือ SUT Entrepreneurship

     ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาศิลปะการต่อสู้นี้ให้สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ มุ่งเน้นการใช้มวยโคราชเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่จะเชื่อมโยงและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการนำเสนอวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map) การพัฒนามวยโคราชให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ และการฝึกอบรมครูผู้สอนมวยโคราช โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาครูผู้สอนมวยโคราชและกิจกรรม MuayKorat GameHack สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรและภาคีต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมมวยโคราช สมาคมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช

มทส. เริ่มแผนวิจัยผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ย้ายต้นกล้าพันธุ์ฝอยทองภูผายลรุ่นแรกเข้าโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล

มทส. เริ่มแผนวิจัยผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
ย้ายต้นกล้าพันธุ์ฝอยทองภูผายลรุ่นแรกเข้าโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล

ที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้ฤกษ์ย้ายต้นกล้ากัญชาพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร รุ่นแรก หลังได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เข้าพื้นที่ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล เพื่อผลิตวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทย 9 ตำรับเชิงพาณิชย์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เผยดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดและการกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ปลูก 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต คาดเก็บเกี่ยวรอบแรก เดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสเป็นประธาน“พิธีปลูกต้นกล้ากัญชา เพื่อการวิจัยการผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” พร้อมนี้ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบใบอนุญาตในการปลูกและครอบครองกัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ณ สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ เฉลิมบรมราชกุมารี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.


รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย ขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทย ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรคุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐานสากล โครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก ได้มีการวางแผนการผลิต แผนการจําหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ กระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกใบอนุญาตการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่เรียบร้อย นับจากนี้ มทส. จะเดินหน้าตามแผนงานอย่างเต็มกำลัง หลังจากเตรียมการปรับพื้นที่พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี ขนาด 15 ไร่ จัดสร้างโรงเพาะชำต้นกล้า จำนวน 1 โรง โรงเรือนเพื่อการปลูก ขนาด 5 x 100 เมตร จำนวน 2 โรง เป็นโรงเรือนระบบปิดวางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ เพื่อการเพาะกล้า การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิตกัญชา และการจัดทำรายงานผล ซึ่งจะดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุปลูกได้จำนวน 3,360 ต้นต่อหนึ่งรอบการผลิต “เมล็ดพันธุ์กัญชาฝอยทองภูผายล” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งได้ทำการคัดแยกต้นกล้ากัญชารุ่นแรก และทำการย้ายปลูกในวันนี้ โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธาณสุข หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน วิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมงาน และเมื่อต้นกล้ามีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จะทำการคัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ไปปลูกภายในโรงเรือน ทั้ง 2 โรง แบ่งเป็นปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น
รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต สำหรับผลผลิตกัญชาสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม จะทำการเก็บเกี่ยวรอบแรกประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม รอบที่สอง เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความทักษะและประสบการณ์อย่างสูง ทั้งนี้ วัตถุดิบทางการผลิตที่เหลือจะถูกเผาทำลายโดยโรงเผาขยะชีวมวล มทส. ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างใกล้ชิด และก่อนเก็บเกี่ยวจะต้องประสานให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา ในวิเคราะห์สารตกค้าง 5 ส่วน คือ ราก ลําต้น ใบ ดอก และเมล็ด เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพถูกต้องตามมาตราฐาน ก่อนส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรแผนไทย จํานวน 9 ตํารับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาต่อยอดยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน”


นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ตามนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายหลังจากมีการประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มาตรา 26/2 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทุกรายมีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และการเข้าถึงกัญชาจะต้องไม่เป็นการจำกัดรูปแบบเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) เท่านั้น แต่ผู้ป่วยจะต้องมีเสรีภาพในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทุกรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาแผนปัจจุบัน (Modern Drugs) ตำรับยาตามตำรายาแผนไทย ตำรับ Special Access Scheme (SAS) สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และตำรับยาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน (Traditional Products) ดังนั้น การจัดพิธีปลูกต้นกล้ากัญชา เพื่อการวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการขับเคลื่อนและกระตุ้นสังคมให้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนากัญชาในประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ เพื่อนําไปสู่การดําเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต่อไป”