สสส. สร้างนักสื่อสารสร้างสรรค์ต้นแบบ เยาวชน 4 ภูมิภาค เป็นผู้นำเครือข่ายสื่อออนไลน์ท้องถิ่น หวังดึงพลังเยาวชนสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคม

สสส. สร้างนักสื่อสารสร้างสรรค์ต้นแบบ เยาวชน 4 ภูมิภาค เป็นผู้นำเครือข่ายสื่อออนไลน์ท้องถิ่น หวังดึงพลังเยาวชนสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคม

เยาวชน 4 ภูมิภาค ร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์ หวังดึงพลังเด็กและเยาวชนสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู้สังคม และพัฒนาเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่นและชุมชน ด้วยต้นแบบหลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ

วันที่ 20-21 ธันวาคม 2564 ที่ โรงแรม ทีเคพาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กทม. โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการการพัฒนาขับเคลื่อนผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่น และชุมชนด้วยต้นแบบ หลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ ขึ้นเพื่อพัฒนา “นักสื่อสารสร้างสรรค์” ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบูรณาการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเรียนรู้ใหม่” ทั้งยังหวังดึงพลังเด็กและเยาวชนสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู้สังคมต่อไป

นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม กล่าวว่า การพัฒนา “นักสื่อสารสร้างสรรค์” ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบูรณาการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเรียนรู้ใหม่” ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเกิดขึ้นปีที่ 6 ภายใต้โครงการการพัฒนาขับเคลื่อนผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่นและชุมชนด้วยต้นแบบหลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ” โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีเครือข่ายเข้าร่วมเพื่อเป็นต้นแบบในการทำงาน ครอบคลุมใน 4 ภูมิภาค อาทิ ภาคอีสาน โดย พันโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ จากไทยเสรีนิวส์, ภาคเหนือ โดยคุณชัยวัฒน์ จันทิมา จากพะเยาทีวี, ภาคใต้ โดยคุณภูวสิษฏ์ สุกใส จากสงขลาโฟกัส และภาคกลาง โดยคุณสืบพงษ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากกลุ่มพลังแห่งต้นกล้า ที่ได้นำทัพเด็กและเยาวชนในภูมิภาคนั้นๆ มาร่วมโครงการการพัฒนาขับเคลื่อนผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่น และชุมชนด้วยต้นแบบ หลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ จำนวนกว่า 80 คน

ได้มาเรียนรู้การทำงานก่อนลงไปสร้างสรรค์สื่อจริง ด้วยหลักสูตรใหม่ที่ทันสมัย และสามารถนำไปใช้ได้จริงกับการทำงาน อย่าง 1. ดิจิทัลพลิกโลก (Digital Disruption) 2. การสื่อสารสุขภาวะ (Community for Health) 3. รู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) 4. กฎหมายและจริยธรรมการสื่อสาร  5. การสืบค้น การวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดทำแผนชุมชน 6.ความคิดสร้างสรรค์และการเล่าเรื่อง 7.การออกแบบและผลิตสื่อ 8.การสื่อสารและการจัดการภาวะวิกฤต 9.การสื่อสารเพื่อการฟื้นฟูและเยี่ยวยา 10.การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ 11.การต่อยอดเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ 12.การประเมินผลและการถอดบทเรียนออนไลน์ และ 13.การออกแบบและผลิตสื่อ 2

“ในการสร้างสรรค์สื่อในครั้งนี้เพื่อเป็นการสื่อสารไปยังสังคมได้แพร่หลายมากขึ้นจึงมีการเน้นให้มีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาทิ Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, Tiktok หรืออื่นๆ ตามที่นำเสนอภายใต้ประเด็นที่กำหนดอย่าง 1.รองรับสังคมผู้สูงวัย 2.ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาวะ 3.ทักษะรู้เท่าทันสื่อและความรอบรู้ด้านสุขภาพ 4.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 5.อัตลักษณ์ – ความดี – คนดีของสังคม ซึ่งสามารถติดตามผลงานของเยาวชนทั้งหมดในครั้งนี้ได้ที่ www.artculture4health.com/mass ครับ”  นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว

ด้าน พันโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ บรรณาธิการบริหารไทยเสรีนิวส์ กล่าวว่า สำหรับภาคอีสานในปีนี้ได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมเพื่อสร้างสรรค์สื่อในโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ทั้งสิ้น จำนวน 6 ทีม โดยมีเยาวชนจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 ทีม อาทิ ทีมพี่เอง, ทีมลูกหล่า และทีมหนุ่มชุมชน ส่วนจากจังหวัดมหาสารคาม โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 3 ทีม อาทิ ทีมนาตาชาโรมานอฟ, ทีมเป็นกำลังจั๊ย และทีม My Navis We love You โดยทั้ง 6 ทีมนี้ จะมีการนำเสนอผลงานและเผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่จะเปิดตัวขึ้นต้นปี 2565 และแน่นอนว่าผลงานทั้งหมดจะมีการเผยแพร่ที่ เวปไซค์และเพจไทยเสรีนิวส์ ด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามทุกๆ ผลงานได้เร็วๆ นี้แน่นอน

“นอกจาก 6 ทีม ของภาคอีสานแล้ว ยังมีผลงานของเยาวชนในโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ในภาคอื่นๆ เผยแพร่ออกมาด้วย แน่นอนว่าทุกๆ ผลงานจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมเพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางในการสร้างสรรค์กลุ่มนักสื่อสารมวลชนที่จะเป็นพลังในการสร้างรากฐานของการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสังคม และประเทศชาติต่อไปได้อย่างแน่นอน จะเป็นอย่างไรติดตามได้ต้นปี 2565 นี้” พันโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ กล่าว

กระตุ้นสร้าง จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน

สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กระตุ้นต่อม “จรรยาบรรณวิชาชีพ “ปลุกสำนึก โฆษณาออนไลน์ #ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รุกเดินสายจัดอบรม กระตุ้นผู้ผลิตสื่อโฆษณาอีสาน ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ หลังสื่อออนไลน์ขยายตัวก้าวกระโดด ทั้งมีการผลิตสื่อโฆษณาผิดกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ หวังผลประโยชน์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
วันที่ 19 ส.ค.63 ที่ห้องประชุมเสียงแคน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการอบรม “โครงการอบรมหลักสูตรการผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ” ที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีคุณอุดมศักดิ์ วงษ์ประเสริฐ รองประธานกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน และผู้ผลิตสื่อโฆษณาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมอบรมกว่า 40 คน


โดยมีหัวข้อการอบรมเรื่อง แนวทางการผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ และกรณีศึกษา โดยคุณธาราวุฒิ สืบเชื้อ รองนายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกฎหมาย และคุณอนุพงษ์ เจริญเวช นักสืบสวนชำนาญการพิเศษ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) การฝึกปฏิบัติการ (Workshop) การกำหนดกลยุทธ์สร้างสรรค์โฆษณาอย่างมีจริยธรรม โดยคุณรชต ไวยอาษา Associate Strategic Planning Director และ ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ กรรมการสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ฝ่ายมาตรฐานวิชาชีพ อาจารย์คณะคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
นายอุดมศักดิ์ วงษ์ประเสริฐ รองประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ข้อมูลเกี่ยวกับจรรยาบรรณ ให้แก่บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตสื่อโฆษณามาโดยตลอด สื่อโฆษณานับเป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลมากต่อผู้รับชม จะเห็นได้ว่าการผลิตสื่อโฆษณาในปัจจุบันนั้นสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสื่อโฆษณาที่ผ่านช่องทางออนไลน์ มีการเติบโตสูงมาก ตามวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันที่บริโภคสื่อออนไลน์มาก ทำให้การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ได้รับความนิยมมาก มีหลายแบรนด์ที่ได้สื่อสารในช่องทางนี้จำนวนมาก
ขณะที่ระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณา ทำได้จำกัดเฉพาะการโฆษณาทางโทรทัศน์เท่านั้น ทำให้มีทั้งการโฆษณาที่สร้างสรรค์และผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก วัดจากข้อมูลของ อย.ปี 2561 มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายมากถึง 523 คดี และปี 2562 มีการเผยสถิติการเฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ จำนวน 24,482 รายการ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายถึง 1,570 รายการ รวมทั้งมีกระแสสังคม วิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอเนื้อหาการโฆษณาอยู่เป็นระยะ
นายอุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่าการควบคุมสื่อโฆษณาจะมีหน่วยงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ห อสคบ. และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์จะมีชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณา ตรวจสอบก่อนออกอากาศ จึงไม่เกิดปัญหา แต่ระยะหลังสื่อโฆษณาที่ผ่านทีวีดาวเทียม และช่องทางออนไลน์ต่างๆ คิดเอง ทำเอง มักโฆษณาผิดกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ และต้องการหลีกเลี่ยง ยัดเยียดสื่อโฆษณานั้นให้ผู้บริโภค
ขณะเดียวกันการใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาควบคุมสื่อโฆษณาช่องทางออนไลน์ และดาวเทียวนั้น คงไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะการผลิตสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์มีจำนวนมาก ทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย จึงหันมารณรงค์ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อโฆษณา ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ จริยธรรม และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับโฆษณาให้มาก เพื่อให้การผลิตงานโฆษณาเป็นผลงานที่มีคุณภาพ ไม่ผิดกฎหมาย สามารถสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และร่วมรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย
ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ กล่าวว่า บทบาทการทำงาน สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเดินสายสัมมนาในหัวข้อ การผลิตสื่อโฆษณาที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ ไปทั่วประเทศไทย มีจุดประสงค์ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้แนวทาง ความสำคัญในการกำกับดูแลตนเองของนักโฆษณา จรรยาบรรณวิชาชีพ รวมไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อตัวแบรนด์สินค้าในสื่อโฆษณาเอง และต่อผู้รับชมสื่อโฆษณานั้นๆ โดยได้มีการจัดอบรมจำนวนทั้งหมด 12 ครั้ง ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เริ่มจากจังหวัดจันทบุรี, ขอนแก่น, กระบี่, เชียงใหม่ และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ
ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล สื่อโฆษณาเข้ามามีบทบาททางออนไลน์เป็นอย่างมาก และยังนับได้ว่าโฆษณาเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อ และสินค้าอุปโภค บริโภคต่าง ๆ ล้วนมีการนำเสนอโดยใช้สื่อโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสื่อโฆษณาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย กระนั้นก็อาจจะมีกลุ่มของผู้บริโภคบางกลุ่มที่รู้สึกกังวลกับชิ้นงานโฆษณาที่ออกมาว่าจะเป็นโฆษณาที่มาทำร้ายร้ายจิตใจ หรือเป็นโฆษณาที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อ การกระทำที่ไม่พึงประสงค์ของกลุ่มต่าง ๆ แต่ทุกปัญหาต้องมีทางออก งานโฆษณาจะยิ่งสร้างสรรค์ถ้ามีกฎกติกามารยาท และการแสดงความ รับผิดชอบต่อสังคมเป็นพื้นฐาน
โครงการอบรมในวันนี้นับว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้สื่อโฆษณาไม่ส่งผลกระทบต่อผู้รับชมคงเป็นการร่วมมือของผู้ผลิตสื่อเองที่ต้องมีความตระหนักถึงจรรยาบรรณในการผลิตสื่อ เพื่อให้สื่อที่จะสื่อสารออกไปนั้นไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้รับชม และเป็นตัวอย่างที่ดีในการผลิตสื่อที่ดี ๆ ต่อไป หวังว่าผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากการอบรมในครั้งนี้ และสามารถนำไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานโฆษณาให้มีความสร้างสรรค์ถูกต้อง เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อสังคมผู้บริโภคต่อไป ก็จะถือได้ว่าการอบรมครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว