ติวเข้มสื่อภาคอีสาน พัฒนาศักยภาพเชิงปฏิบัติการ การใช้มือถือ อย่างมืออาชีพ ในยุค 4.0

ติวเข้มสื่อภาคอีสาน พัฒนาศักยภาพเชิงปฏิบัติการ  การใช้มือถือ อย่างมืออาชีพ ในยุค 4.0

ที่ผ่านมา  นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ครั้งที่ 1/2561     การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ ยุค 4.0” และบรรยายพิเศษเรื่อง “กฟผ.4.0” จัดโดย สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.นครราชสีมา


โดยมี นายฐิติรัตน์ พงษ์พุทธรักษ์ นายกสมาคมนักข่าว  จังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และ นพ.ธีรวัฒน์ ร่มไทรทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธีรวัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ บรรยายพิเศษเรื่อง “ฟ้าสวย ตาใส” นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายเพชรเหล็ก ทองภูธร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 5 นครราชสีมา เป็นประธานปิดการอบรมและมอบวุฒิบัตรให้กับผู้เข้ารับการอบรม โดยมีสื่อมวลชนสาขา นสพ., วิทยุ, เคเบิ้ลทีวี และสื่อออนไลน์ จากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน


พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ ผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟน เมื่ออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตข่าว และรายงานข่าวได้ด้วยตัวเอง เป็นการรายงานเหตุการณ์สด ได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามอาชีพคนทำข่าว หรือนักหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ต้องมีการปรับตัวมากขึ้น นักข่าวจะต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง ไม่ใช่แค่การเขียนลงหนังสือพิมพ์ วิ่งไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ แล้วกลับมารายงานข่าวผ่านสื่อที่ตนรับผิดชอบ แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำข่าว เปลี่ยนเป็นการรายงานผ่านสื่อออนไลน์ การทำ LIVE เหล่านี้คือบทบาทของนักข่าวที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างแน่นอน


ดังนั้น สมาคมเครือข่าย หนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ประจำปี 2561 เรื่อง “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ ยุค 4.0” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าใจและเรียนรู้การผลิตข่าวด้วยมือถือ โดยให้กลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง วิธีการนำเสนอ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้เข้าถึง โดนใจผู้บริโภคในยุคดิจิตอลนี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงานและชีวิตประจำวัน
ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี กระบวนการผลิตข่าวผ่านสื่อออนไลน์ มีทักษะทางด้านการรายงานข่าวด้วยมือถือ อันจะนำไปสู่ความเป็นนักข่าวมืออาชีพ สามารถทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นำไปปรับใช้กับองค์กร และนำไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ในอาชีพสื่อสารมวลชนต่อไป


การอบรม “เล่าเรื่องยุคดิจิทัลด้วยมือถือ” โดยวิทยากร ประกอบด้วย อ.กุลพัฒน์ จันทร์ไกรลาส (อ.ต่อง), อ.จำรัส จันทนาวิวัฒน์ (อ.หมิ่น) และ อ.วนาภรณ์ ตลอดไธสง (อ.กิ๊ก) บรรยายในหัวข้อ การทำข่าวในยุค สื่อออนไลน์, หลักคิดเรื่อง วารสารศาสตร์มือถือ (Mobile Journalism), การนำไปใช้ในการผลิตเนื้อหาสำหรับสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ, รู้จักมือถือ ทำอะไรได้บ้างในยุคสื่อออนไลน์ 4.0, มารู้จักแอพพลิเคชั่นดี ๆ สำหรับการใช้มือถือทำงานผลิตเนื้อหาข่าว, หลักการถ่ายภาพด้วยมือถือ และการแต่งภาพเพื่อนำไปใช้งาน, แนะนำการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ขาตั้ง ตัวประคองโทรศัพท์มือถือ และไมโครโฟน, เข้าใจการทำงานผลิตวีดีโอเพื่ิอการเล่าเรื่อง การวางแผน การถ่ายทำ และการตัดต่อ การพากย์และการลงเสียงให้น่าฟัง การเปิดหน้าพูดกับกล้อง การสัมภาษณ์ เป็นต้น
ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และได้ฝึกปฏิบัติจริง ทั้งการวางแผน การเล่าเรื่อง การถ่ายทำ การตัดต่อ การทำกราฟฟิค และการลงเสียงบรรยาย จากนั้นทั้ง 7 กลุ่ม ได้นำเสนอผลงาน โดยคณะวิทยากรได้ให้คำแนะนำ ชี้แนะ เพื่อปรับปรุงแก้ไขผลงานให้สมบูรณ์ โดยทุกขั้นตอนการผลิตใช้เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ซึ่งผลงานทั้ง 7 กลุ่ม คณะวิทยากรได้พิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง ท่องเที่ยว วัดในประวัติศาสตร์ นครราชสีมา รองชนะเลิศอันดับ 1 รายการทีวีแขมร์ พาเที่ยววัดศาลาลอย และรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง เที่ยว ปราสาทพนมวัน
“สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน จะจัดโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ครั้งที่ 2/2561 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผล เพื่อให้สื่อมวลชนภาคอีสาน ได้เกิดทักษะ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข่าวเชิงคุณภาพที่ดีๆ ให้กับสังคม และเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อใหม่ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่พลาดการอบรมในครั้งที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมฯ โดยรายละเอียดต่างๆ จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป และขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านในครั้งต่อๆ ไป”