เปิดตัว “ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ” ไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก

เปิดตัว “ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ” ไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก
           วันนี้ (22 พ.ย. 2562) สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดงานแถลงข่าว ณ อาคารสิรินธรเพื่อเปิดตัวไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
            นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ โยอิชิ อาซูมา ผู้อำนวยการพิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เข้ารวมแถลงข่าวไดโนเสาร์พันธ์สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มาถึง 25 ปี สยามแรปเตอร์ มาจากการศึกษา ค้นคว้า จากฟอสซิลรวมทั้งสิ้น 22 ชิ้น ซึ่งประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้าฟอสซิลดังกล่าวคาดว่ามาจาก สยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4 ตัว สยามแรปเตอร์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา โดยมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียนความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมสยามแรปเตอร์ จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานว่าไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ ได้มีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรปตั้งแต่ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน
ขอบคุณที่มา : สวท.นม