ตำรวจภูธรภาค 3 แถลงข่าวการจับกุมยาเสพติดของกลาง ยาบ้า 2 ล้านเม็ด ไอซ์ 60 กก. อี 9,000 เม็ด

ตำรวจภูธรภาค ๓ โดย พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย รอง ผบช.ภ.3 (หน.กม) /รับผิดชอบ ศอ.ปส.(ยาเสพติด), พล.ต.ต.ภาณุ บุรณศิริ รอง ผบช.ภ.3 (หน.สส) และ นายณรงค์ วรหาญ ผอ.สำนักงาน ปปส.ภาค ๓ ,นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พล.ต.ต.พรชัย นลวชัย ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ได้สั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัด เร่งรัดสืบสวนจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ระดมกวาดล้างยาเสพติดในทุกมิติ การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดนและพื้นที่ชั้นใน และดำเนินการปิดล้อมตรวจค้น และการทำลายเครือข่ายตัดวงจรยาเสพติดทุกระดับ ดำเนินการสืบสวนจับกุม ขยายผล เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ชูสวัสดิ์ จันทร์โรจนกิจ ผบก.สส.ภ.๓, พ.ต.อ.สมบัติ หงษ์ทอง, พ.ต.อ.ชลาสินธุ์ ชลาลัย, พ.ต.อ.เดชพล เปรมศิริ รอง ผบก.สส.ภ.๓ ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ยุทธพงษ์ รอดนวล ผกก.สืบสวน๑ บก.สส.ภ.๓, พ.ต.ท.ภูมิ ทองโพธิ์ รอง ผกก.สืบสวน ๑ บก.อก.ภ.3 พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สืบสวน ๑ บก.สส.ภ.๓

ร่วมกันจับกุมเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญ จำนวน 1 ราย ผู้ต้องหา 2 คน ดังนี้
๑) นางประการ หรือ เตี้ย ช่วยแสง อายุ๔๑ ปี ภูมิลำเนา อ.บ้านผือ จว.อุดรธานี
๒) ด.ช.ป้อม (นามสมมติ) อายุ ๑๔ ปี ภูมิลำเนา อ.โขงเจียม จว.อุบลราชธานี
พร้อมด้วยของกลาง
๑) ยาบ้า บรรจุใส่ถุง รวมเป็นมัด ในกระสอบพลาสติก สีขาว จำนวน ๕ กระสอบ รวมจำนวนประมาณ ๑,๙๘๐,๐๐๐ เม็ด
๒) ยาอี ( Ecstasy) ชนิดเม็ดสีส้ม ปั้มรูปอุ้งตีนหมี จำนวนประมาณ ๙,๐๐๐ เม็ด
๓) สารไอซ์ บรรจุในถุงใส่ชาสีเขียวลายผลไม้ จำนวน ๖๐ ถุง น้ำหนักรวมประมาณ ๖๐ กิโลกรัม
๔) รถยนต์กระบะ ยี่ห้อฟอร์ด เรนเจอร์ สีเทา หมายเลขทะเบียน ผธ ๔๔๓๐ อุบลราชธานี จำนวน ๑ คัน
๕) โทรศัพท์มือถือ จำนวน ๒ เครื่อง

โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า สารไอซ์และยาอี) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า สารไอซ์ และยาอี) โดยผิดกฎหมาย”
สถานที่เกิดเหตุ บริเวณจุดกลับรถหน้าร้านธงฟ้ายายฉาตาคิด ถนนมิตรภาพ (ขาขึ้น) ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จว.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๐๖.๒๐ น.
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้สืบสวนทราบว่ามีเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด จะนำยาเสพติดข้ามฝั่งโขงมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลำเลียงเข้าสู่กรุงเทพฯ และกระจายยาเสพติดไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยจะลำเลียงผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในคืนวันที่ ๓ ตุลาคม 2564 จึงได้นำกำลังเฝ้าจุด และวางแผนเข้าจับกุม ต่อมาสามารถตรวจยึดยาเสพติดได้ที่บริเวณปากซอยไม่มีชื่อริมถนนมิตรภาพ (ขาล่อง) ฝั่งตรงข้ามเยื้องวัดใหม่บ้านดอน ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จว.นครราชสีมา ส่วนผู้ต้องหาทั้งสองได้ขับรถหลบหนีในขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม และสามารถติดตามจับกุมตัวได้บริเวณจุดกลับรถหน้าร้านธงฟ้ายายฉาตาคิด ถนนมิตรภาพ (ขาขึ้น) ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จว.นครราชสีมา และได้ทำการซักถามขยายผลรับว่าได้รับการว่าจ้างมาจากนายสนุ๊ก (ไม่ทราบชื่อจริง) ให้เป็นคนขับรถนำทางทีมขนยาเสพติด ในราคาเที่ยวละ ๖๐,๐๐๐ บาท โดย นางประการฯ เป็นคนขับ ส่วน ด.ช.ป้อม หลานชาย เป็นคนช่วยดูทาง และเป็นผู้ขานตัวเลขหลักกิโลเมตร เพื่อเช็คระยะห่างระหว่างรถนำกับรถที่ขนยาเสพติด ขณะขับรถนำรถขนยาเสพติด สังเกตเห็นการติดตามของเจ้าหน้าที่ จึงให้ทีมขนหลบเข้าซอยทิ้งของไว้ เพื่อขนถ่ายย้ายของเมื่อปลอดภัย เมื่อเข้าใจว่าปลอดภัยแล้วจึงขับรถเข้ามาตรวจสอบย้ายของ จึงถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจพบและจับกุมตัวได้ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.โพธิ์กลาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และชุดจับกุมจะได้ทำการสืบสวนขยายผลถึงเครือข่ายผู้ค้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

การประชุมเสวนากำหนดแนวทางการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการป้องกันอุบัติเหตุในการจราจร และพิธีลงความร่วมมือ (IMOU)

การประชุมเสวนากำหนดแนวทางการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการป้องกันอุบัติเหตุในการจราจร และพิธีลงความร่วมมือ IMOU)ตาม “โครงการบูรณาการความร่วมมีอระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมากับ ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย Safety Zoneในจังหวัดนครราชสีมา”
วันจันทร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.ณ ห้องประชุมลำตะคอง ขั้น3 โรงแรมแคนทารี ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
โดย ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศลายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ท่าน พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา สบ ๙ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภ.3.และท่านผู้มีเกียรติ ทุกท่าน

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา /กับตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ในวันนี้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ มีศักยภาพในทุกๆ ด้าน ครบทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและภูมิอากาศที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นภารกิจหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน/ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้เล็งเห็นความสำคัญในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งเศรษฐกิจจะพัฒนาได้ต้องเชื่อมั่นในความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
วัตถุประสงค์ของโครงการ
๑.เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล /นโยบายของจังหวัดนครราชสีมา นโยบายของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ และนโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
๒.เพื่อบูรณาการการทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนทั่วไป / และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา โดยถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ
๓.เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบรักษาความปลอดภัย ให้มีความพร้อมสามารถป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ปัญหาทางสังคม ที่อาจจะเกิดขึ้น /ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและมีมาตรฐานในระดับสากล
๔.เพื่อสร้างความตระหนักด้านการรักษาความปลอดภัย ในองค์กรพร้อมเตรียมรับการเข้าสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐ / โดยสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดงบประมาณ ดำเนินการ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครอบคลุม ๑๐ อำเภอ
นำร่อง ได้แก่

(๑) อำเภอปากช่อง

(๒) อำเภอด่านขุนทด

(๓) อำเภอสีคิ้ว
(๔) อำเภอสูงเนิน

(๕) อำเภอเมือง
(๖) อำเภอโนนสูง
(๗) อำเภอคง
(๘) อำเภอโนนแดง

(๙) อำเภอสีดา
(๑๐) อำเภอบัวลาย
ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ พ.ศ.๒๕๖๖จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครอบคลุมพื้นที่ ๓๒ อำเภอ รวม ๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ดังนั้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยการลดโอกาส ลดปัจจัยเสี่ยง และความล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมในเขตพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างเป็นรูปธรรม/และบังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ตานโยบายรัฐบาล และนโยบายจังหวัดนครราชสีมา /ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดทำโครงการบูรณาการความร่วมมือ/ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กับตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัย(Safety Zone) ในจังหวัดนครราชสีมา โดยแบ่งภารกิจในการดำเนินงาน/ ตามความถนัดและเหมาะสมอีกด้วย

ฤกษ์ดีวันมงคล วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ทำพิธีบุญตั้งศาลเทพชัยมงคลใหม่ และทำบุญสำนักงานประจำปี

ฤกษ์ดีวันมงคล วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ทำพิธีบุญตั้งศาลเทพชัยมงคลใหม่ และทำบุญสำนักงานประจำปี
วันที่ 24 กันยายน 2564 ณ. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดบึงพระอารามหลวง ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ นายคุณไชยนันท์ แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ประธานในพิธีร่วมกับ นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา , คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา พร้อม เจ้าหน้าที่ ข้าราชการวัฒนธรรมจังหวัดร่วมผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมพิธีทำบุญตั้งศาลพระภูมิชัยมงคล , ศาลตายายใหม่ทดแทนศาลเดิมที่ชำรุด และจัดทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ งานทำบุญสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ภายในพิธีได้มีพระสงฆ์ 9 รูป สวดพระพุทธมนต์

พิธีถวายสังฆทาน ทำบุญเลี้ยงพระใหญ่ และรดน้ำมนต์ให้พรแก่ผู้มาร่วมงานกิจกรรมครั้งนี้ ได้ทำบุญเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมชาติ
โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีภาระกิจอันสำคัญเพื่อปลูกสร้างจิตสํานึกความเป็นไทยสร้างค่านิยมและวิถีชีวิตที่ดีงาม ,ส่งเสริมสนับสนุนการนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และ ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ เพื่อนำไทยสู่สากล เป็นหน่วยงานที่สำคัญของชาติ ในสังกัด กระทรวงวัฒนธรรม

สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร มอบสิ่งของให้กับศูนย์แบ่งปัน 19 พอเพียง ส่งต่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19

สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร มอบสิ่งของให้กับศูนย์แบ่งปัน 19 พอเพียง ส่งต่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ณ ศูนย์เรียนรู้ ๑๙ บ้านโนนสวรรค์ ตำบลพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พันโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน ,นายพิเย็น ภักดีสุวรรณ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. ,ดร.อำไพพรรณ สิงห์สกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระเครื่อง จ.ขอนแก่น ,นายสุขุม กาญจนกัณโห ที่ปรึกษานักสื่อสารสร้างสรรค์ ภาคอีสาน , นายพีรพล แสงสุนีย์ ที่ปรึกษาสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.56ปี) ,นางสาวพิมพ์ธนัญญา ธนาพัชร์จิรกุล ผู้บริหารโรงแรมอัญชันลากูน่า ขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน และทีมนักสื่อสารสร้างสรรค์ ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ร่วมมอบสิ่งของให้กับศูนย์แบ่งปัน 19 พอเพียง ตำบลพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมี นายวินัย ทองทัพ กำนันตำบลพระลับ พร้อมทีมบริหาร และฝ่ายปกครองตำบลพระลับ เป็นตัวแทนรับมอบ

นโท พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน กล่าวว่า สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และทีมนักสื่อสารสร้างสรรค์ ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร ได้ร่วมกันรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ ได้แก่ พัดลมติดผนัง หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ กระเป๋าผ้า หมวก และน้ำดื่ม มามอบให้กับศูนย์แบ่งปัน 19 พอเพียง ตำบลพระลับ เพื่อนำไปใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตำบลพระลับ ในการปฏิบัติหน้าที่ทุ่มเท เสียสละ และทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จากนั้น นายวินัย ทองทัพ กำนันตำบลพระลับ ได้นำคณะเยี่ยมชม Food Bank การก่อสร้างน้ำตก เพื่อบำบัดน้ำเสีย ตามแนวความคิดทำน้ำเสียให้เป็นเงิน โดยได้รับความอนุเคราะห์ และความร่วมมือจากหน่วยงาน ส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เข้ามาให้คำแนะนำ คำปรึกษา ในการปรับปรุงพื้นที่หนองอีเลิง ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำทิ้ง น้ำเสีย ของเมืองขอนแก่น ให้เป็นน้ำดี ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำชี โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ท่านได้พระราชทาน เป็นกรอบแนวคิด ซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน

“หลวงปู่ทวด” เนื้อทองเหลือง (ใหญ่ที่สุดในโลก) อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

บารมีหลวงปู่ทวด “ปากเป็นเงินเป็นทอง” ขอพรทำการค้าร่ำรวยที่ “วัดป่าคำหัวช้าง”
ความเลื่อมใสศรัทธาในองค์ “หลวงปู่ทวด” ที่หลายคนเข้าใจคือ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” แต่แท้ที่จริงแล้วหลวงปู่ทวดท่านมีพุทธคุณครอบจักวาล หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีพุทธคุณครบทุกด้าน ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ป้องกันภัย มหาเสน่ห์ มหาอุด รวมทั้งไล่ภูตผี และใช้กันเสนียดจัญไรได้อีกด้วย ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ทวดจึงเป็นที่เล่าขานกันมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดความเคารพศรัทธาหลวงปู่ทวดกันอย่างกว้างขวาง


พระอาจารย์ศิริวัฒน์ ถาวรธมโม หรือ “หลวงพ่อศิริ” เจ้าอาวาสวัดป่าคำหัวช้าง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “ศาลเจ้าปู่คำหัวช้าง” ซึ่งได้รับแรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศที่มากราบไหว้ บนบานต่อพ่อปู่คำหัวช้างและประสบความสำเร็จ โดยนำเอาช้าง-ม้ามาถวายเพื่อเป็นการแก้บน จากช่วงแรกๆ ที่มีการแก้บนไม่กี่ตัว แต่ด้วยแรงศรัทธาที่ส่งผลให้ผู้มากราบไหว้พบกับความสำเร็จสมหวัง จึงเชื่อว่าศาลเจ้าปู่คำหัวช้างมีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย อาทิ บางคนขายที่ดินหรือทรัพย์สินได้ บางคนได้ตำแหน่งสูงขึ้น บางคนถูกหวยมีโชค หรือขอเรื่องทำมาค้า-ขายแล้วประสบความสำเร็จดังที่หวังไว้ จึงนำรูปปั้นช้าง-ม้ามาถวายเป็นการแก้บน จากปากต่อปากที่สมหวังเมื่อมาขอพรจากศาลแห่งนี้ ทำให้มีรูปปั้นช้าง-ม้านำมาถวายพ่อปู่คำหัวช้างนับแสนตัว และกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “วัดป่าคำหัวช้าง


ที่มาของการ “นำช้างมาถวายเพื่อแก้บน” หลวงพ่อศิริ เล่าว่า มีญาติโยมที่นำสังฆทานมาถวาย ในขณะที่กราบไหว้ศาลปู่-ย่า เกิดมีอาการชักกระตุกพร้อมพูดว่า ณ บึงท้ายวัดแห่งนี้ มีช้างศึกซึ่งเป็นน้องสาวย่าโมจากเมืองโคราช ลงมากินน้ำและล้มตาย ขอให้หลวงพ่อปั้นรูปช้างพร้อมตั้งชื่อให้ด้วย ดังนั้น ผู้ที่ประสบความสำเร็จสมหวังจึงได้นำช้างมาถวาย ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่เท่าช้างจริงมากมากมายภายในวัดฯ และขณะนี้ หลวงพ่อได้เตรียมปรับพื้นที่ภายในวัดป่าคำหัวช้างเพื่อสร้างจุดเช็คอิน “ช้างพลายแก้วกระดิ่งทอง” โดยช้างพลายแก้วกระดิ่งทองจะมีความสูง 5 เมตร และยังนำวัตถุมงคลร้อยแปดบรรจุเข้าไปไว้ภายในตัวช้าง ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาเช็คอินสามารถลอดท้องช้างขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเอง นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่โดยรอบจุดเช็คอิน “ช้างพลายแก้วกระดิ่งทอง” ยังตบแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงามตามแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย


หลวงพ่อศิริ กล่าวต่อไปว่า รูปปั้นช้าง-ม้าที่นำมาถวายด้วยแรงศรัทธา แม้จะเป็นของดีมีคุณค่าต่อจิตใจ แต่หากปล่อยทิ้งร้างนานวันก็จะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เครื่องหมายแห่งความเลื่อมใสศรัทธาเหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่ทับถม หากจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งที่ผู้เคารพศรัทธานำมาถวายด้วยความเลื่อมใสถูกเหยียบย่ำจากผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง หลวงพ่อศิริ จึงให้ลูกศิษย์นำช้าง-ม้าตัวที่ชำรุดทรุดโทรมมาทุบทำลายแล้วถมลงบ่อ พร้อมปรับพื้นที่เพื่อสร้างองค์ “หลวงปู่ทวด” เนื้อทองเหลือง (ใหญ่ที่สุดในโลก) ขนาดหน้าตักกว้าง 19.99 เมตร สูง 39.99 เมตร (รวมฐาน) ประดิษฐานคร่อมพื้นที่นี้ไว้เบื้องบนเพื่อให้สาธุชนคนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา


ณ วัดป่าคำหัวช้าง ซึ่งมี “ศาลเจ้าปู่คำหัวช้าง” ตั้งอยู่ด้านหน้าติดถนนตรงหัวโค้งพอดี ปัจจุบัน ได้ปรับพื้นที่จากหน้าผาสูงชันให้เป็นพื้นที่ลาด และกั้นแนวรั้วถนนเพื่อให้จอดรถยนต์บริเวณด้านหน้าได้ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เคารพศรัทธาได้เข้ามากราบไหว้อย่างปลอดภัย นอกจากศาลพ่อปู่คำหัวช้างที่อยู่บริเวณด้านหน้าติดถนนใหญ่แล้ว ภายในพื้นที่วัดป่าคำหัวช้างแห่งนี้ ยังมีพื้นที่สวนสนุกและเครื่องเล่นสำหรับเด็กเล็ก มีกรงนกนานาชนิดขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่บริเวณศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง มีศาลปู่-ย่า และจุดเช็คอิน “พลายแก้วกระดิ่งทอง” ที่ทุกท่านสามารถลอดท้องช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล และก่อนเดินทางกลับ ทุกท่านสามารถแวะรับประทานอาหารที่โรงทานบริเวณด้านหน้าวัดฟรีอีกด้วย


สำหรับท่านที่ต้องการร่วมบริจาคปัจจัยเพื่อสมทบสร้างองค์ “หลวงปู่ทวด ปากเป็นเงินเป็นทอง” ที่สร้างจากทองเหลืองแท้ทั้งองค์ หรือบูชาทองเหลืองเพื่อหล่อองค์หลวงปู่ทวด สามารถบริจาคได้ตามกำลังศรัทธาที่วัดฯ หรือโอนเข้าบัญชี วัดป่าคำหัวช้าง ธนาคารกสิกรไทย บัญชีเลขที่ 491-224-888-2 เพื่อสร้างทานบารมีให้ปากเป็นเงินเป็นทอง ทำมาค้า-ขายเจริญรุ่งเรือง ซึ่งขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างไปแล้วกว่า 30 % โดยจะมีการทำพิธีเททองหล่ออีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งในการทำพิธีเททองหล่อหลวงปู่ทวดในครั้งนี้ ยังมีการหล่อรูปเหมือน “ไอ้ไข่ หรือ (คุณตาไข่)” ซึ่งเป็นลูกศิษย์คู่บารมีของของหลวงปู่ทวดอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สาธุชนที่เคารพศรัทธาให้องค์หลวงปู่ทวด และ ไอ้ไข่ ได้กราบไหว้ขอพรในคราวเดียว ณ วัดป่าคำหัวช้างแห่งนี้ หลวงพ่อศิริ กล่าว

นิพนธ์ ชื่นตา” ประชุมคณะทำงานการเมืองภาคประชาชน จ.ขอนแก่น กำหนดทิศทางการทำงานดูแลปัญหาพี่น้องประชาชน

“นิพนธ์” ลุยหารือคณะทำงานเมืองขอนแก่น วางแนวทางช่วยแก้ปัญหาประชาชน
“นิพนธ์ ชื่นตา” ประชุมคณะทำงานการเมืองภาคประชาชน จ.ขอนแก่น กำหนดทิศทางการทำงานดูแลปัญหาพี่น้องประชาชน เผยปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ขณะที่ชาวบ้านเป็ดบุกร้องให้ช่วยเคลียร์ปัญหาตั้งเสาสัญญาณใกล้ชุมชน หวั่นกระทบสุขภาพ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.63 นายนิพนธ์ ชื่นตา ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายวัชรินทร์ ศรีสวย หัวหน้าสำนักงานและเลขาฯ นายนิพนธ์ ชื่นตา, นายบรรหาร บุญเขต ประธานที่ปรึกษาและคณะทำงานด้านการเมืองภาคประชาชน ภาคเหนือตอนล่าง,นายเสรภณ การสมพรต ประธานที่ปรึกษาและคณะทำงานด้านการเมืองภาคประชาชน ภาคกลาง,.ร.ต.อ.ธนาเสฏฐ์ ธนเวชไพบูลย์ เลขานุการประจำนายนิพนธ์ โดยมี นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะทำงานการเมืองภาคประชาชน จังหวัดขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่น


ในโอกาสเดียวกัน ได้มีตัวแทนชาวบ้านที่พักอาศัยใกล้ค่ายสีหราชเดโชชัย กรมทหารราบที่ 8 พื้นที่ ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่นได้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีได้รับความเดือดร้อน วิตกกังวลจากผลกระทบด้านสุขภาพจากการตั้งเสารับ-ส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายใหญ่เจ้าหนึ่งที่มาตั้งใกล้กับชุมชน
ภายหลังรับหนังสือและซักถามประเด็นปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านโดยสังเขปแล้ว นายนิพนธ์ รับปากจะดำเนินการพิจารณาหาทางช่วยเหลือ โดยจะให้คณะทำงานฯ จังหวัดขอนแก่น ดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด
หลังจากนั้นนายนิพนธ์พร้อมคณะได้เยี่ยมชมพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่นถึงปัญหาอุปสรรค์การทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งได้รับรายงานข้อมูลว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปาฯลฯ
นายนิพนธ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงภารกิจหลักที่เดินทางเยือนจังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้เพื่อประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานการเมืองภาคประชาชน จังหวัดขอนแก่น ว่าจะกำหนดทิศทางแนวทางการทำงานอย่างไรที่จะดูแลพี่น้องประชาชนให้มีปัญหาการดำรงชีวิตน้อยที่สุด นอกเหนือจากที่ภาคราชการได้ดูแล โดยพวกตนถือเป็นทีมงานของกระทรวงมหาดไทยที่ทำงานในสถานะภาคประชาชน ซึ่งสามารถเข้าหาพี่น้องประชาชนได้สะดวก คล่องตัว รวดเร็วมากกว่า
“จากการลงพื้นที่ในต่างจังหวัด พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคประชาชนมีหลากหลาย ทั้งปัญหาที่ทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเรื่องความยุติธรรม ปัญหาข้อพิพาทระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐหรือองค์กรธุรกิจเอกชน ต้องประสานงานแก้ปัญหากับทุกภาคส่วน” นายนิพนธ์กล่าว


ภายหลังเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนข้อมูลประเด็นปัญหาข้อร้องทุกข์ของประชาชนกับผู้แทนศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่นเสร็จแล้ว นายนิพนธ์ พร้อมคณะได้มอบมอบรถเข็น (วิลแชร์) จำนวน 5 คัน ให้แก่จังหวัดขอนแก่น โดยมี นางสุจินดา สระคูพันธ์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น และคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น ร่วมรับมอบ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ต่อไป

เปิดตัวเป็นครั้งแรกของ “ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปชนิดเร็วสำหรับพยาธิใบไม้ตับ” ก้าวแรกที่แค่หยดปัสสาวะก็ทราบผลตรวจได้ทันที

มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เข้าร่วมสนับสนุนและแสดงความยินดีกับ กิจกรรมการเปิดตัวเป็นครั้งแรกของ “ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปชนิดเร็วสำหรับพยาธิใบไม้ตับ (Rapid Diagnostic Test for Opisthorchiasis)” ที่ผลิตโดยโครงการการผลิตชุดตรวจปัสสาวะ สำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน ที่ดำเนินการโดย ศ.ไพบูลย์ สิทธิถาวรและคณะ ภายใต้แหล่งทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอกมลาไสย อสม. และประชาชนในพื้นที่

ศ.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ ประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของมูลนิธิฯ ที่ได้เข้าร่วมรณรงค์ต่อสู้ให้ประชาชนในภาคอีสานปลอดจากพยาธิใบไม้ตับอันเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยวันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่คณะวิจัยสามารถพัฒนาชุดตรวจการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว พร้อมใช้ตรวจได้ในชุมชนที่ไม่ต้องส่งตัวอย่างปัสสาวะมาตรวจที่โรงพยาบาล

อีกทั้งยังตรวจการติดเชื้อได้แม่นยำกว่าการตรวจไข่พยาธิในอุจจาระ ดังนั้นวันนี้จึงเป็นก้าวแรกของการทดลองที่ผู้ถูกตรวจไม่ต้องเสียเวลารอ เพราะจะทราบผลในทันทีที่หยดตัวอย่างปัสสาวะลงบนแผ่นแถบสีที่โครงการนี้ผลิต ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อได้รับยาถ่ายพยาธิเพื่อรักษาโรคอย่างทันการณ์ในวันนั้นเลย โครงการนี้พร้อมจะขยายวงการตรวจให้กว้างขวางในชุมชนที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับในอนาคตอันใกล้นี้

ขอนแก่นจัดกิจกรรมยกระดับนักบริหารองค์กรสาธารณประโยชน์ ขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการสังคม

พม. ยกระดับนักบริหารองค์กรสาธารณประโยชน์ ขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการสังคม


เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓ ที่สถาบันการพัฒนาความรู้ด้านการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายชูรินทร์ ขวัญทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมนักบริหารองค์กรสาธารณประโยชน์ รุ่นที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารองค์กรสาธารณประโยชน์พัฒนาองค์ความรู้ในด้านการจัดสวัสดิการสังคม เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ รวมทั้งเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการพัฒนาองค์กรและงานสวัสดิการสังคม โดยมีผู้บริหารองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ผ่านการรับรองตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ จากทั่วประเทศ จำนวน ๑๐๐ คน เข้าร่วมโครงการ


นายชูรินทร์ ขวัญทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการและการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการให้มีโครงการพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานฯ มาเป็นระยะ โดยโครงการในลักษณะนี้ ได้จัดมาแล้ว จำนวน ๓ รุ่น คือ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมา มีบุคลากรขององค์กร สาธารณประโยชน์เข้าร่วมโครงการไปแล้วทั้งสิ้น ๑๕๐ คน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔
ซึ่งผลของการเข้าร่วมโครงการประการหนึ่งซึ่งเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การมีเครือข่ายในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรสาธารณประโยชน์ รวมทั้งองค์ความรู้ที่ได้รับ หลายองค์กรนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ในการจัดสวัสดิการสังคม ตามบทบาทของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการป้องกัน การแก้ไขปัญหา และการพัฒนาสังคมในชุมชนเป้าหมาย


สำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้ มีการให้ความรู้ในเนื้อหาต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับการจัดรูปแบบสวัสดิการ การสร้างเครือข่ายทางสังคม กฎหมายที่จำเป็น การรับรองมาตรฐานองค์การสวัสดิการสังคม รวมทั้งการเขียนโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนในการจัดสวัสดิการจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งในการเข้าร่วมโครงการเชื่อได้ว่าทุกๆ ท่าน จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมระหว่างกันและก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานของแต่ละองค์กรได้เป็นอย่างดี
“ในช่วงสามวันของการเข้าร่วมโครงการขอให้ทุกท่าน ได้เก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับจากวิทยากร และร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้เต็มที่ รวมทั้งสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือ การสร้างมิตรภาพ การทำความรู้จักและเกิดความสัมพันธ์ของเครือข่ายในการทำงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะสร้างมูลค่าในการผลักดันและขับเคลื่อนงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติงานขององค์กรสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

สมัชชาสุขภาพขอนแก่น ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชน ชูภาคประชาชน เป็นผู้นำองค์กรคนใหม่

สมัชชาสุขภาพขอนแก่น ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชน ชูภาคประชาชน เป็นผู้นำองค์กรคนใหม่


คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น (คจ.สจ.) รุกทำแผนยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชน 3 ประเด็นหลัก เป็นแนวทางการทำงานในปี 63 “ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวถนน” รับเลือกเป็นประธานฯคนใหม่ แทนคนเก่าที่ครบวาระ    เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ห้องประชุม โรงแรมไอโฮเทล จ.ขอนแก่น นายวิรัช มั่นในบุญธรรม ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น (คจ.สจ.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี ที่ปรึกษา,คณะทำงานประเด็นหลัก และตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) ภาพรวมการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ปี2562 การจัดงานสมัชชาสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น และการจัดงานสมัชชาพลเมืองจังหวัดขอนแก่น ให้คณะทำงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบและได้กำหนดแนวทางการทำงานในปี 2563 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้จังหวัดขอนแก่น มีบรรยากาศเอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน การใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้เพื่อการออกกำลังกาย และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดการแบบบูรณาการ สร้างและให้ความรู้ รณรงค์สร้างความตระหนักตื่นตัว ส่งเสริมให้มีระบบและโครงสร้างที่ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่
2) ชุมชนร่วมใจ ใส่ใจทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาวะของคนขอนแก่น มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพภาคพลเมืองในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเกิดการการบูรณาการแผนความร่วมมือของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น และ 3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง มีเป้าหมายเพื่อ “พัฒนาคุณภาพชีวิต สิทธิเท่าเทียม เปราะบางสู่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” โดยเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการรับรู้และเข้าถึงสิทธิ การเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา และการเข้าถึงสิทธิด้านการมีงานทำ


จากนั้น เป็นการสรรหาประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น แทนชุดเดิมที่มี นายวิรัช มั่นในบุญธรรม เป็นประธาน ดร.สุพัฒน์ จำปาหวาย และนายกฤตภาส ปรุงศรีปัญญา (ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวถนน) เป็นรองประธาน ได้ครบวาระ ซึ่งประธานและรองประธานชุดใหม่ ได้แก่ นายกฤตภาส ปรุงศรีปัญญา ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวถนน เป็นประธาน พันโท ดร.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน และ ดร.สายัณต์ แก้วบุญเรือง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรขอนแก่น เป็น รองประธาน

 

ระดมกำลังทุกภาคส่วนหาทางรอด..แก้ไขปัญหาชาวไร่อ้อย

ภาคเอกชนขานรับ ระดมหาทางรอดชาวไร่อ้อย แก้ปัญหาราคาน้ำตาลไทย เน้นย้ำลดเผาอ้อย


สอน.จับมือภาคเอกชน หาทางรอดของชาวไร่อ้อย จากวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลไทย ที่ราคาตกต่ำ เน้นลดเผาอ้อย “ช้างแทรกเตอร์” หนุนรับช่วยชาวไร่อ้อย แก้ปัญหาขาดแรงงาน และเพิ่มศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกอย่างยั่งยืน


จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน 3 สมาคมหลัก อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งโรงงานน้ำตาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ร่วมสนับสนุนการจัดงาน Sugarex Thailand 2019 โดยมี นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และ Mr. Nong Guang ประธานสมาคมกว่างซีจ้วง ชูการ์ อินดัสทรี่ ร่วมเปิดงาน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (KICE) จังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้
คุณปุณฑริกา แสนฤทธิ์ ผู้จัดการบริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า เป็นการจัดงานครั้งแรกในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะเชื่อว่า เป็นภาคที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตร อีกทั้งเป็นภาคที่ มีโรงงานน้ำตาลทราย ถึง 21 แห่ง มากที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งพื้นที่เกษตรกรรม เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ และยังมีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกอ้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
การจัดงาน Sugarex Thailand 2019 เป็นการรวมตัวของนักวิชาการ ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม นักลงทุน คู่ค้า ทั้งในประเทศ และต่างประเทศแถบทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเครื่องจักรและเทคโนโลยีนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการเสวนาเพื่อเสริมสร้างความรู้สู่ความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในหัวข้อ “ทางรอดของชาวไร่อ้อย จากวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลไทย ที่ราคาตกต่ำ” เน้นย้ำ “มาตรการแก้ปัญหาเผาอ้อย” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การจัดงาน Sugarex Thailand 2019 จึงเป็นการสร้างประสิทธิภาพ ในวงการธุรกิจน้ำตาล และอ้อย ให้เทียบเท่าระดับสากล คุณปุณฑริกา กล่าว
นายวรกันต์ หงส์กา ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ช้างแทรกเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ในฤดูการตัดอ้อย ปัญหาของผู้ประกอบการ คือ ไม่มีแรงงานที่จะมาสางใบอ้อย ดังนั้น ถ้าไม่เผา ก็ไม่มีแรงงานตัด และยังมีปัญหาการขาดแรงงาน เมื่อจำเป็นต้องเร่งตัดในช่วงปลายฤดูกาล จำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเช่นเดียวกัน
เชื่อว่า ปัญหาแรงงาน และปัญหาการเผาอ้อย จะหมดไป เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการสนับสนุน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร และได้ขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 โดยให้ ธนาคาร ธ.ก.ส. เตรียมวงเงินกู้รวม 6,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย หรือ กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 2%
เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าและยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อท้ายแทรกเตอร์ อาทิ เครื่องสางใบอ้อย เครื่องตัดอ้อย และอื่น ๆ ที่ใช้ในการปลูกและบำรุงรักษาอ้อย เป็นแนวทางในการช่วยเพิ่มผลผลิต รักษาคุณภาพผลผลิตอ้อย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้ง ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาว ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น นับเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกอย่างยั่งยืน
นายวรกันต์ กล่าวต่อว่า อยากให้เกษตรกรได้ศึกษาการใช้งานของเครื่องจักรกล ที่จะเป็นตัวช่วยเพื่อแทนแรงงานที่ขาดแคลนได้ อาทิ เครื่องสางใบอ้อยที่จะช่วยกำจัดใบอ้อยซึ่งเป็นอุปสรรคและปัญหาอันดับแรกของแรงงาน จากนั้น ใช้เครื่องตัดอ้อย เป็นเครื่องช่วยในการทำงานแบบรวดเร็ว สะดวก ไม่เสียเวลา โดยมีรุ่น และขนาดให้เลือกเพื่อ ความเหมาะสมกับพื้นที่การใช้งานจริง เชื่อว่า การใช้เครื่องสางใบอ้อย และเครื่องตัดอ้อย จะทำให้หมดปัญหา การขาดแรงงาน หมดปัญหาการเผาอ้อย เพราะเครื่องสางใบ และเครื่องตัดอ้อย จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการตัดอ้อยได้ทันตามกำหนด และไม่ทำให้คุณค่าของผลผลิตจากอ้อยเสียไปอีกด้วย
“จากการคำนวณ การใช้เครื่องสางใบและเครื่องตัดอ้อย ระยะเวลาการทำงานใน 1 ชม. สามารถตัดอ้อยได้ถึง 2 ไร่ หรือ 40 ตันต่อ1พ่วง ในระยะเวลา8 ชม. สมารถตัดอ้อยได้ 2 พ่วง หรือ 80-100 ตัน จึงเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 8 เท่า เพราะการใช้แรงงานคนต้นทุน 120 บาทต่อตัน แต่การใช้เครื่องทุ่นแรง ต้นทุนจะอยู่ที่ 20 บาทต่อตัน ดังนั้น การใช้เครื่องจักรทำงาน จึงเป็นการแก้ปัญหาชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการชาวไร่อ้อยที่สนใจเครื่องจักรเพื่อการเกษตร สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หจก. เอ็ม.ที. แทรกเตอร์ชุมแพ 59 ม.1 ถ.มะลิวรรณ ต.ไชยสอ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โทรศัพท์ 081 873 2390 หรือ www.changtractor.com” นายวรกันต์ กล่าว