นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกเฉลี่ย 800 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1,081 มิลลิเมตร แต่โชคดีที่ปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 5 แห่ง มีความจุเกินร้อยละ 70 จึงมีน้ำใช้เพียงพอ อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนตกน้อยมาก ทำให้แหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ 17 อำเภอ 118 ตำบล 1,343 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.โนนแดง ,ประทาย ,ด่านขุนทด ,ขามทะเลสอ ,ลำทะเมนชัย ,คง ,บัวใหญ่ ,สูงเนิน , เมือง นครราชสีมา,เมืองยาง ,ห้วยแถลง ,พระทองคำ ,สีดา ,บ้านเหลื่อม ,ขามสะแกแสง ,บัวลาย และ สีคิ้ว เริ่มเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ชลประทานและเกษตรอำเภอรวมทั้งฝ่ายปกครองได้สำรวจพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีและเตรียมประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง โดยมีนาข้าว 687,153.20ไร่ และพืชไร่ 218,815 ไร่ เพื่อพิจารณาจ่ายค่าชดเชยความเสียหายตามสภาพความจริง ส่วนประปาเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ซึ่งใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง แต่ กปภ.ทั้ง 10 สาขา ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะ กปภ.อ.คง ซึ่งใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ จากพื้นที่ความจุ 7 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เหลือเพียง 8 แสน ลบ.ม. ถือว่าน้อยมาก จึงแก้ไขโดยสูบน้ำจากลำน้ำชีเข้ามาเพิ่มเติมให้เพียงพอและอ่างเก็บน้ำหนองตะไก้ อ.ห้วยแถลง ก็ต้องสูบน้ำเข้ามาเติมอย่างต่อเนื่องด้วย
ล่าสุดได้รับรายงานพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 7 อำเภอ 24 ตำบล 93 หมู่บ้าน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความห่วงใยและให้ความสำคัญในเยียวยาปัญหา ตนได้สั่งการให้นายอำเภอเฝ้าระวังเป็นพิเศษกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล สถานีอนามัย โรงเรียน และวัด ต้องตรวจสอบข้อมูลประเมินปัญหาอย่างต่อเนื่องแบบเดือนต่อเดือน จังหวัดพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จนถึงช่วงฤดูฝนในเดือนมิถุนายน 62 หากปรากฏความเดือดร้อนของราษฎรเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนน้ำตามสื่อต่างๆ ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของนายอำเภอ ซึ่งต้องติดตามและเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคให้ผ่านพ้นวิกฤตให้ได้