สมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา วางพวงมาลาสักการะคุณย่าโม และทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่เพื่อนร่วมอาชีพที่ล่วงลับไปแล้ว

สมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา วางพวงมาลาสักการะคุณย่าโม และทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่เพื่อนร่วมอาชีพที่ล่วงลับไปแล้ว

วันที่  5  มีนาคม 2562  สมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายฐิติรัตน์  พงษ์พุทธรักษ์ นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา  นายไพฑูรย์ มนุญพงศ์พันธุ์  นายอิศราวุธ  พิพัฒพลกาย  และคณะกรรมการทุกท่าน ได้ร่วมกันวางพวงมาลาสักการะท้าวสุรนารี  ที่บริเวณ ลานอนุสาวรีท้าวสุรนารีเนื่องในวันนักข่าว ประจำปี 2562 และถวายภัตราหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ที่วัดสุทธจินดาวรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออุทิศส่วนบุญให้กับนักข่าวที่ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้วันนักข่าว ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม   ของทุกปีถือกำเนิดมาจากวันที่นักข่าวรุ่นบุกเบิกหลายท่านได้ร่วมชุมนุมกันก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498    ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์ทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับ “วันนักข่าว” กันเป็นอย่างดี
ปัจจุบันข่าวสารข้อมูลกำลังกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเนื้อหาของข่าวเท่านั้น คนหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าวก็มีความสำคัญ ในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังผู้อ่านด้วยเช่นกัน จึงเปรียบเทียบได้กับกระจกที่สะท้อนสังคมในทุก ๆ ด้าน ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงด้านเดียวในแวดวงหนังสือพิมพ์ มีผู้เรียกนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวว่า “ฐานันดรที่ 4” ความหมายโดยนัยแล้วคือ ผู้ที่มีสถานะแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือผู้ที่มีอภิสิทธิ์ในการขีดเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อมวลชน

โดยในปี 2562 นี้ ทางสมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้มีการจัดงานวันนักข่าวแต่อย่างใด  เนื่องจากเห็นว่า มีหน่วยงานทางสื่อมวลชน ได้มีการจัดงานกันอย่างหลากหลายรูปแบบอีกทั้งหากต้องมีการข้อรับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี ทางสมาคมได้เล็งเห็นว่า  ควรมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบอื่น เพื่อเป็นการยังประโยชน์ให้แก่สังคมได้มากที่สุด  จึงได้ดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาจักรยานขึ้น  ภายใต้โครงการ TOUR OF KORAT 2019 ที่ได้ร่วมกันกับท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  จังหวัดนครราชสีมา และสโมสรกีฬาจักรยาน  จังหวัดนครราชสีมา  ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่  31  มีนาคม  2562 นี้

ปฏิวัติ “นักข่าวอีสาน” ก้าวสู่โลกใหม่บนมือถือเป็น “นักข่าวมืออาชีพ”

ปฏิวัติ “นักข่าวอีสาน” ก้าวสู่โลกใหม่บนมือถือเป็น “นักข่าวมืออาชีพ”

 

“นักข่าวอีสาน” เร่งปรับตัวและเปลี่ยนแนวความคิด เข้าติวเข้ม 3 วันเต็ม เตรียมตัวเป็น “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ” ต่อยอดพัฒนาคุณภาพสู่ไทยแลนด์ 4.0

เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเพชรเกษม แกรนด์ ถนนจิตรบำรุง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนภาคอีสาน ต่อยอดพัฒนาเข้มผู้สื่อข่าวทุกแขนงของภาคอีสาน เป็นรุ่นที่ 2 ภายใต้ชื่อ “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ พัฒนา คุณภาพชีวิตสู่ไทยแลนด์ 4.0” เรียนรู้วิธีการถ่ายภาพและตัดต่อ การทำ Content Marketing แบบ Storytelling ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนภาคอีสาน กล่าวว่า สมาคมฯ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ประจำปี 2561 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้รวม 68 คน จากจังหวัดต่างในภาคอีสาน ทั้งนี้ยังมีภาคอื่นๆ เช่น สระบุรี และสมุทรปราการ เข้าร่วมอบรมด้วย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินการจัดการอบรม และจัดวิทยากรมาให้ความรู้ ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการต่อยอดความรู้ให้แก่สื่อมวลชนภาคอีสาน ในการผลิตข่าว เพื่อนำเสนอผ่านออนไลน์ พร้อมกันนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ส่งผู้สังเกตการณ์จำนวน 2 คน เป็นตัวแทนจากองค์กรสื่อมวลชนภาคกลาง และภาคใต้ เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้อีกด้วย

“ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้มีวิทยากรมืออาชีพ อย่างเช่น นายกุลพัฒน์ จันทร์ไกรลาศ หรืออาจารย์ต่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ, อาจารย์จำรัส จันทนาวิวัฒน์, อาจารย์สืบพงษ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (กลุ่มพลังแห่งต้นกล้า), คุณวิทยา จิรัฐติกาลสกุล (กลุ่มสื่อสุขสันต์) และคุณอุมาพร ตันติยาทร โปรดิวเซอร์ รายการสารคดีโทรทัศน์ บริษัท บุญมีฤทธิ์ จำกัด นอกจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มอบให้นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการ มาบรรยายเรื่อง “ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป” และยังเปิดเวทีเสวนา เรื่อง “สังคมสูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตร”

ด้าน อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลป์วัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้มอบหมายให้แผนงานสื่อศิลป์วัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านพัฒนาสื่อ จึงได้ประสานกับสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนภาคอีสาน โดยการเชิญสื่อมวลชนเข้ามาร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายๆส่วน ร่วมกันจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสู่ภูมิภาค โดย สสส.ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยเชิญสื่อมวลชนที่ทำงานในภาคต่างๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม ในครั้งต่อไปก็จะเป็นการจัดร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนภาคเหนือ ที่ จ.น่าน จากนั้นจะไปที่ภาคกลาง ที่ จ.ตราด และปิดท้ายที่ภาคใต้ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้วจึงจะมีการถอดบทเรียน เพื่อทำหลักสูตร “สื่อศึกษา” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการอบรมในครั้งต่อๆ ไป

ในวันที่ 2 ของการอบรม ผู้อบรมทุกคนจะได้ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อผลิตผลงานคลิปวิดีทัศน์ผ่าน Smartphone ความยาว 5 นาที ในประเด็นหัวข้อที่ใช้ฝึกปฏิบัติการทั้ง 4 ประเด็นหลัก ที่ สสส. ได้กำหนดให้มา ได้แก่ ประเด็นรองรับผู้สูงวัย, ประเด็นกลุ่มอ่อนไหวและเปราะบาง, ประเด็นสิ่งแวดล้อมในชุมชน และประเด็นปัญหาปัจจัยเสี่ยงในชุมชน โดยจะมีวิทยากรพี่เลี้ยง ลงไปให้คำแนะนำวิธีการใช้แอพพลิเคชั่นและผลิตสื่อสร้างสรรค์อย่างถูกหลักและจูงใจผู้ชม

อาจารย์ดนัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไป เราจึงต้องมีการอบรมในการใช้มือถือ หรือสมาร์ทโฟน ในการผลิตสื่อในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากจบการอบรมแล้วผู้เข้าอบรม จะต้องกลับไปฝึกทบทวนและใช้มือถือต่อยอดในการผลิตข่าวด้วยตัวเองต่อไปเพื่อให้เกิดทักษะ และความชำนาญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากติดขัดหรือมีข้อสงสัย ก็ยังสามารถสอบถามวิทยากรทุกท่านได้ เพื่อที่เราจะได้มีการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นต่อไป

ด้าน ดร.กัลยาณี ธรรมจารย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม เล่าด้วยความประทับใจว่า เป็นการอบรมที่เข้มข้น จริงจัง ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติที่ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้อบรมฯ และให้ลงไปยังพื้นที่พร้อมวิทยากรพี่เลี้ยง เพื่อหาประเด็นข่าวตามหัวข้อที่ สสส.กำหนด โดยในแต่ละกลุ่มก็ได้มีการประชุมวางแผนร่วมกัน แบ่งมอบหน้าที่ แล้วลงมือถ่ายภาพด้วยมือถือ เพื่อนำมาตัดต่อด้วยแอพพลิเคชั่นในมือถือ ซึ่งเป็นความทันสมัยในยุค 4.0 และที่สำคัญมีความสะดวกสบาย สามารถผลิตสื่อได้โดยง่าย รวดเร็ว แก้ไขได้ตามใจต้องการ และที่สำคัญสามารถนำไปใช้งานได้ทันต่อเหตุการณ์

ทั้งนี้ หลังจากที่ทุกกลุ่มได้ร่วมกันผลิตสื่อตามโจทย์ที่ สสส.กำหนดแล้ว และได้ส่งงาน คณะผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีอาจารย์มานพ  แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. เป็นประธานได้ร่วมกันวิพากย์ถึงเนื้อหา การถ่ายภาพ ความเชื่อมโยงการเล่าเรื่อง เพื่อให้นำไปปรับแก้ ให้ผลงานของแต่ละกลุ่มออกมามีประสิทธิภาพและเป็นที่สนใจของผู้ชม จึงนับได้ว่าการอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมเข้มที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้การผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ซึ่งจะได้มีการต่อยอดในการจัดโครงการครั้งที่ 3/2561 ต่อไป