อบรมเชิงปฎิบัติการ “พิราบน้อยศรีฐาน” ปั้นผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล

อบรมเชิงปฎิบัติการ “พิราบน้อยศรีฐาน” ปั้นผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล

        สมาคมเครือข่ายสื่อฯ ภาคอีสาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ในการรู้เท่าทันและใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ โดยจัดอบรมเชิงปฎิบัติการ “พิราบน้อยศรีฐาน” สามารถผลิตสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนผ่านสื่อออนไลน์

พันโท ดร.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า ชุมชนบ้านศรีฐาน เทศบาลนครขอนแก่น เป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งบ้านเรือนมากกว่า 200 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังพบหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี อายุกว่า 2,000 ปีมาก่อน เรื่องราวดีงามต่างๆ ของชุมชนบ้านศรีฐานนี้ ที่ผ่านมาเป็นการรับรู้เฉพาะในวงแคบ หากจะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ก็เป็นจากการดำเนินงานของหน่วยงาน ส่วนราชการของทางราชการ

จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี อย่างไม่หยุดยั้ง กระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง สื่อกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ที่สามารถกระตุ้นการรับรู้ และดึงดูด ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนจะใช้เวลาไปในการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น หากเยาวชนและประชาชนในชุมชนบ้านศรีฐานได้รับการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่มีคุณภาพ ให้เกิดความฉลาดรู้ด้านสื่อ และความตื่นรู้ทางปัญญาได้อย่างทรงพลัง จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านนักสื่อสารสร้างสรรค์อย่าง “พิราบน้อย” ที่ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อ และสามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ

พันโท ดร.พิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า สมาคมเครือข่ายหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน (องค์กรสาธารณประโยชน์) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในอิทธิพลของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย จึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในชุมชนบ้านศรีฐาน ได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ พร้อมฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อแบบเข้มข้นจากนักสื่อสารมืออาชีพ ให้ความรู้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในยุคดิจิทัล เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับงานด้านประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในอนาคตได้

สมาคมเครือข่ายหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน (องค์กรสาธารณประโยชน์) จึงได้ร่วมกับชุมชนบ้านศรีฐาน ,สถานีวิทยุ อสมท ขอนแก่น ,ศูนย์ข่าว 123 คนดีมีน้ำใจ จังหวัดขอนแก่น, ศูนย์ศึกษาพระเครื่องจังหวัดขอนแก่น,สถาบันวาทศิลป์ และสถาบันพัฒนสื่อสารมวลชน จัดทำ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล “พิราบน้อยศรีฐาน” ประจำปี 2562 ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น และโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ในการให้ใช้สถานที่จัดการอบรมดังกล่าว ระหว่างวันที่  23 – 24  สิงหาคม  พ.ศ.2562 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากชุมชนศรีฐานทั้ง 4 ชุมชน และนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน รวมทั้งสิ้น 82 คน

นายสุธี ศรสวรรค์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวในโอกาสปิดการอบรม “พิราบน้อยศรีฐาน” ว่า ต้องขอแสดงความยินดีกับพิราบน้อยศรีฐานทุกคน ที่เข้าอบรมการในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล “พิราบน้อยศรีฐาน” ประจำปี 2562 และขอขอบคุณ สมาคมเครือข่ายหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน (องค์กรสาธารณประโยชน์) และ ภาคีเครือข่าย อาทิ สถานีวิทยุ อสมท ขอนแก่น ,ศูนย์ข่าว 123 คนดีมีน้ำใจ จังหวัดขอนแก่น, ศูนย์ศึกษาพระเครื่องจังหวัดขอนแก่น, สถาบันวาทศิลป์, สถาบันพัฒนสื่อสารมวลชน, ชุมชนศรีฐาน และที่สำคัญ เป็นโครงการที่ สมาคมเครือข่ายหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน (องค์กรสาธารณประโยชน์) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในอิทธิพลของสื่อต่างๆ ทั้งสื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และโซเซียลมีเดีย (Social Media) จึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนในชุมชนศรีฐาน ได้มีโอกาส เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ และฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อแบบเข้มข้นจากนักสื่อสารมืออาชีพ ซึ่งจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับงานด้านประชาสัมพันธ์ และยังสามารถเข้าใจในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย (Social Media) ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในอนาคตต่อไป

“พิราบน้อยศรีฐาน” เป็นโครงการแรกที่นำร่องในชุมชนศรีฐาน นับเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับเยาวชน ที่จะได้พัฒนาศักยภาพและต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้นำโครงการนี้ขยายผลไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ และฝึกฝนปฎิบัติจากผู้เชี่ยวชาญนักสื่อสารมืออาชีพ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต

นายสุธี ศรสวรรค์ พมจ.ขอนแก่น กล่าวต่อว่า พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่เน้นการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ต้องการให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความสามารถ และเติบโตขึ้นมาเพื่อเข้ามาทดแทนผู้ใหญ่ที่ทำงานมานาน มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งผู้ใหญ่ในปัจจุบันแต่ละท่านก็ต้องเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย เรื่องที่มีความสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ “สังคมผู้สูงอายุ” ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือมีผู้สูงอายุ 20% และใน ปี 2574 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 28 – 30% ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพเพื่อทดแทนผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เยาวชนในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม บางกลุ่มติดสื่อ Social ในทางที่ผิด ขาดทักษะการคิดและตัดสินใจ ทำให้หลงไปกระทำตามกระแสแบบผิดๆ ถูกหลอกลวงไปทำมิดีมิร้าย กลายเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ เยาวชนบ้านศรีฐานจะเป็นโครงการที่นำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนในชุมชนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ปกครอง โรงเรียน และหน่วยงานต้องให้ความสำคัญที่จะร่วมกันสร้างให้เยาวชนได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต

 

สื่อภาคอีสานเดินหน้าปั้น “นักข่าวมือถือ” รุ่นที่ 2 สร้าง Content ให้โดนใจ

สื่อภาคอีสานเดินหน้าปั้น “นักข่าวมือถือ” รุ่นที่ 2 สร้าง Content ให้โดนใจ

สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคอีสาน เดินหน้าปั้นนักข่าวมือถือ รุ่นที่ 2 ต่อยอด “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ พัฒนา คุณภาพชีวิตสู่ไทยแลนด์ 4.0” เรียนรู้การทำ Content Marketing แบบ Storytelling และการเสวนาเรื่อง “สังคมสูงวัย” โดย รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เปิดเผยว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสานครั้งที่ 2/2561 เรื่อง “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ไทยแลนด์ 4.0” ระหว่างวันที่  23 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ณ โรงแรมเพชรเกษม แกรนด์ ถนนจิตรบำรุง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีผู้ลงชื่อเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ 68 คน มาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน สระบุรี และสมุทรปราการ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมในครั้งที่ 1 ที่ จ.นครราชสีมา มาแล้ว

ในการอบรมครั้งที่ 2 นี้ จะเป็นการต่อยอดความรู้เดิม และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ผู้เข้ารับการอบรม ในการใช้โทรศัพท์มือถือ เรียนรู้วิธีการถ่ายภาพและตัดต่อ การทำ Mobile Journalism, และการลำดับภาพผ่าน Application KineMaster โดยทีมวิทยากรกระบวนการผลิตสื่อมืออาชีพ นายกุลพัฒน์ จันทร์ไกรลาศ (อาจารย์ต่อง)  ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ, อาจารย์จำรัส จันทนาวิวัฒน์, อาจารย์สืบพงษ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (กลุ่มพลังแห่งต้นกล้า), คุณวิทยา จิรัฐติกาลสกุล (กลุ่มสื่อสุขสันต์) และคุณอุมาพร ตันติยาทร โปรดิวเซอร์ รายการสารคดีโทรทัศน์ บริษัท บุญมีฤทธิ์ จำกัด

การทำ Content Marketing แบบ Storytelling และการทำการตลาดในสื่อออนไลน์ โดย อ.จารุณี นวลบุญมา หัวหน้าสำนักประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. บรรยายพิเศษ “ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป” โดย นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และการเสวนา เรื่อง “สังคมสูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตร

นอกจากนี้ในวันที่ 2 ของการอบรม ผู้อบรมทุกคนจะได้ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อผลิตผลงานคลิปวิดีทัศน์ผ่าน Smartphone เป็นสารคดี, สารคดีเชิงข่าว หรือภาพยนตร์สั้น ความยาว 4 นาที ในประเด็นหัวข้อที่ใช้ฝึกปฏิบัติการทั้ง 4 หัวข้อ ได้แก่ ประเด็นรองรับผู้สูงวัย, ประเด็นกลุ่มอ่อนไหวและเปราะบาง, ประเด็นสิ่งแวดล้อมในชุมชน และประเด็นปัญหาปัจจัยเสี่ยงในชุมชน

“การอบรมนักข่าวมือถือ มืออาชีพ เพราะเทคโนโลยีขณะนี้เข้ามามีบทบาทในการรายงานข่าวค่อนข้างมาก เมื่อมาอบรมแล้วเราจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานที่เราทำได้ เราไม่ได้แค่ทำหน้าที่รายงานข่าวที่เกิดขึ้นอย่างเดียว เรามีหน้าที่โดยตรง ในการนำเสนอข้อเท็จจริง นำความประจักษ์ให้เกิดขึ้นแก่สังคม ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างหลอมรวมกันแล้ว อย่าคิดว่าเราเป็นทีวี เป็นหนังสือพิมพ์ เป็นวิทยุ หรือเป็นออนไลน์ แต่คอนเทนท์ต้องเป็นคอนเทนท์ เพราะถ้าสื่อไม่ก้าวทันเทคโนโลยีแล้ว ก็จะไม่ทันต่อการตอบสนองของผู้บริโภค จึงต้องเสริมทักษะตรงนี้เพิ่มเติม ซึ่งความสำคัญที่สุดของคนทำสื่อคือ การบริการสาธารณะ เพื่อร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง” พ.ท.พิสิษฐ์ กล่าว

ติวเข้มสื่อภาคอีสาน พัฒนาศักยภาพเชิงปฏิบัติการ การใช้มือถือ อย่างมืออาชีพ ในยุค 4.0

ติวเข้มสื่อภาคอีสาน พัฒนาศักยภาพเชิงปฏิบัติการ  การใช้มือถือ อย่างมืออาชีพ ในยุค 4.0

ที่ผ่านมา  นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ครั้งที่ 1/2561     การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ ยุค 4.0” และบรรยายพิเศษเรื่อง “กฟผ.4.0” จัดโดย สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.นครราชสีมา


โดยมี นายฐิติรัตน์ พงษ์พุทธรักษ์ นายกสมาคมนักข่าว  จังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และ นพ.ธีรวัฒน์ ร่มไทรทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธีรวัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ บรรยายพิเศษเรื่อง “ฟ้าสวย ตาใส” นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายเพชรเหล็ก ทองภูธร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 5 นครราชสีมา เป็นประธานปิดการอบรมและมอบวุฒิบัตรให้กับผู้เข้ารับการอบรม โดยมีสื่อมวลชนสาขา นสพ., วิทยุ, เคเบิ้ลทีวี และสื่อออนไลน์ จากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน


พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ ผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟน เมื่ออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตข่าว และรายงานข่าวได้ด้วยตัวเอง เป็นการรายงานเหตุการณ์สด ได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตามอาชีพคนทำข่าว หรือนักหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ต้องมีการปรับตัวมากขึ้น นักข่าวจะต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง ไม่ใช่แค่การเขียนลงหนังสือพิมพ์ วิ่งไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ แล้วกลับมารายงานข่าวผ่านสื่อที่ตนรับผิดชอบ แต่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำข่าว เปลี่ยนเป็นการรายงานผ่านสื่อออนไลน์ การทำ LIVE เหล่านี้คือบทบาทของนักข่าวที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างแน่นอน


ดังนั้น สมาคมเครือข่าย หนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ประจำปี 2561 เรื่อง “นักข่าวมือถือ มืออาชีพ ยุค 4.0” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เข้าใจและเรียนรู้การผลิตข่าวด้วยมือถือ โดยให้กลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง วิธีการนำเสนอ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้เข้าถึง โดนใจผู้บริโภคในยุคดิจิตอลนี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงานและชีวิตประจำวัน
ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี กระบวนการผลิตข่าวผ่านสื่อออนไลน์ มีทักษะทางด้านการรายงานข่าวด้วยมือถือ อันจะนำไปสู่ความเป็นนักข่าวมืออาชีพ สามารถทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นำไปปรับใช้กับองค์กร และนำไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ในอาชีพสื่อสารมวลชนต่อไป


การอบรม “เล่าเรื่องยุคดิจิทัลด้วยมือถือ” โดยวิทยากร ประกอบด้วย อ.กุลพัฒน์ จันทร์ไกรลาส (อ.ต่อง), อ.จำรัส จันทนาวิวัฒน์ (อ.หมิ่น) และ อ.วนาภรณ์ ตลอดไธสง (อ.กิ๊ก) บรรยายในหัวข้อ การทำข่าวในยุค สื่อออนไลน์, หลักคิดเรื่อง วารสารศาสตร์มือถือ (Mobile Journalism), การนำไปใช้ในการผลิตเนื้อหาสำหรับสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ, รู้จักมือถือ ทำอะไรได้บ้างในยุคสื่อออนไลน์ 4.0, มารู้จักแอพพลิเคชั่นดี ๆ สำหรับการใช้มือถือทำงานผลิตเนื้อหาข่าว, หลักการถ่ายภาพด้วยมือถือ และการแต่งภาพเพื่อนำไปใช้งาน, แนะนำการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ขาตั้ง ตัวประคองโทรศัพท์มือถือ และไมโครโฟน, เข้าใจการทำงานผลิตวีดีโอเพื่ิอการเล่าเรื่อง การวางแผน การถ่ายทำ และการตัดต่อ การพากย์และการลงเสียงให้น่าฟัง การเปิดหน้าพูดกับกล้อง การสัมภาษณ์ เป็นต้น
ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และได้ฝึกปฏิบัติจริง ทั้งการวางแผน การเล่าเรื่อง การถ่ายทำ การตัดต่อ การทำกราฟฟิค และการลงเสียงบรรยาย จากนั้นทั้ง 7 กลุ่ม ได้นำเสนอผลงาน โดยคณะวิทยากรได้ให้คำแนะนำ ชี้แนะ เพื่อปรับปรุงแก้ไขผลงานให้สมบูรณ์ โดยทุกขั้นตอนการผลิตใช้เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ซึ่งผลงานทั้ง 7 กลุ่ม คณะวิทยากรได้พิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง ท่องเที่ยว วัดในประวัติศาสตร์ นครราชสีมา รองชนะเลิศอันดับ 1 รายการทีวีแขมร์ พาเที่ยววัดศาลาลอย และรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง เที่ยว ปราสาทพนมวัน
“สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน จะจัดโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนภาคอีสาน ครั้งที่ 2/2561 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผล เพื่อให้สื่อมวลชนภาคอีสาน ได้เกิดทักษะ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข่าวเชิงคุณภาพที่ดีๆ ให้กับสังคม และเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อใหม่ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่พลาดการอบรมในครั้งที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมฯ โดยรายละเอียดต่างๆ จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป และขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านในครั้งต่อๆ ไป”