ชาวเชียงใหม่ร่วมใจดูแลช้างหลังไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

ประเทศไทย – ชาวเชียงใหม่ร่วมใจดูแลช้างหลังไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

จากการสำรวจของสหพันธ์ช้างไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างเลี้ยงอยู่ราว 3,700 – 3,800 เชือก ซึ่งส่วนมากเป็นช้างที่ถูกใช้งานในแวดวงการท่องเที่ยว เกือบทั้งหมดได้กลายสภาพเป็นช้างตกงานจากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูช้างตามมา เนื่องจากช้างแต่ละเชือกจะต้องกินอาหารให้ได้วันละ 10% ของน้ำหนักตัว ขณะที่ช้างแต่ละเชือกมีน้ำหนักตั้งแต่ 2,000 – 5,000 กิโลกรัม เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้ริเริ่มไอเดียในการบริจาคที่ดินเปล่าในเขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ชาวบ้านในพื้นที่และควาญช้างได้มาช่วยกันปลูกหญ้าเนเปียเพื่อนำไปเป็นอาหารช้าง จนทำให้ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการและเอกชนอีกหลายรายที่ได้บริจาคที่ดินเปล่า หรือบริจาคอาหารให้กับช้างตามปางต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ภายในพื้นที่ และการบริจาคจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังไม่มีนโยบายความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ขณะที่สมาคมสหพันธ์ข้างไทย วอนให้รัฐบาลไทยมองว่าช้างเป็นประชากรอีกส่วนหนึ่งของประเทศด้วย

ปรีทอง สิงขรพิทักษ์ – คนงานปลูกหญ้าเนเปีย บอกว่า “ดูแลหญ้า แล้วก็ปลูกหญ้าครับให้ช้างครับ ยกขึ้นรถครับ ยกขึ้นรถไปส่งปางช้างต่างๆ นะครับ ไปส่งแม่แตงบ้าง แม่วางบ้าง แม่ริมบ้าง แล้วก็พัทร เอ้ย หางดงบ้างนะครับ”

ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย
บอกว่า “ช้างในประเทศไทยเนี่ยกว่า 3,800 เชือกเนี่ย ส่วนมากแล้วได้รับการเลี้ยงดูหรือดูแลในสารบบของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นตั้งแต่เราปิดประเทศมาเนี่ย จนถึงวันนี้แล้วก็ครบรอบ 2 ปีแล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่าคนเลี้ยงช้างไม่มีรายได้ แทบจะทุกวันหรือวันเว้นวันเนี่ย เราต้องประสบปัญหาได้รับการรายงานถึงช้างที่ล้มป่วยและตายลงนะครับ”

กันทอง เลิศวงษ์รัตนกุล – ควาญช้าง บอกนักข่าว “ที่แม่ขนิลนี่มี 10 กว่าเชือกครับ ดูแลตอนนี้ 2 แม่ลูกครับ ทุกวันนี้ก็หาตัดหญ้าที่ปลูกไว้ให้นะครับ เพราะว่าตอนนี้จะเข้าหน้าแล้งแล้ว หญ้าไม่ค่อยเพียงพอแล้วครับ”

เพิ่มพงษ์ สาวิกันย์ – ผู้จัดการโครงการปางช้างภัทร บอกว่า “ก็ช่วยกันกับควาญช้าง ก็ดูแลสถานที่ ดูช้างช่วยกัน ไปดูสถานที่ที่ออกไปไกลจากนี่ฮะ เข้าไปในป่า ไปดูว่ามีอาหารช้างมั้ย ถ้ามีก็มาบอกกัน ก็คืออยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเราก็จะมีรายได้สำหรับที่จะช่วยดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับควาญช้าง”

ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย บอกว่า “สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของโครงการนำร่องที่เริ่มต้นด้วยบริษัท แสนสิริ จำกัดนะครับ กลายเป็นว่า หน่วยงานอื่นที่เห็นแนวทางก็เข้ามาสนับสนุนโครงการของสมาคมด้วย ล่าสุดก็เป็นความร่วมมือของภาคทหารนะครับ กองพันสัตว์ต่างร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่นะครับ ร่วมกันให้เราใช้พื้นที่กว่าร้อยไร่ในการปลูกหญ้านะครับ ซึ่งก็เป็นเฟสที่ 2 รวมถึงเอกชนรายต่างๆ ที่มีการติดต่อเข้ามา สิ่งที่ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการหางบประมาณในการจ้างควาญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนคงต้องช่วยกันคิดต่อไปว่าทำยังไงถึงจะรักษาควาญช้าง 3-4,000 คนเนี่ย เพื่อให้เขาช่วยเลี้ยงดูช้างของประเทศไทยให้ได้”

ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เพิ่มว่า “เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราเป็นประเทศที่มีช้างนะครับ เพราะฉะนั้นนอกจากมีประชากร 70 กว่าล้านคนที่จะต้องดูแลแล้ว ข้อนึงที่รัฐบาลจะลืมไม่ได้ มองข้ามไม่ได้เลยก็คือยังมีประชากรช้างกว่า 3,800 เชือก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยครับ”

ที่มา A24 News Agency

พิธีเปิดตัว “ก้าวท้าใจ Season 4 หรือ การ Kick off ก้าวท้าใจ Season 4

สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดตัว “ก้าวท้าใจ Season 4 หรือ การ Kick off ก้าวท้าใจ Season 4 วิถีถัดไป”

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ น.  ณ ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา การจัดกิจกรรมเปิดตัว ก้าวท้าใจ Season 4 (Kick off ก้าวท้าใจ Season 4)โดย นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมากล่าวเปิดพร้อมด้วยแพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมากล่าวรายงาน และผู้บริหารจากองค์กรและหน่วยงานเครือข่ายสุขภาพทุกท่าน หัวหน้ากลุ่มงาน และบุคลากรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาทุกคน

นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน ในพิธีเปิดตัว “ก้าวท้าใจ Season 4 หรือ การ Kick off ก้าวท้าใจ Season 4 วิถีถัดไป” ในวันนี้ กระผมขอขอบคุณคณะผู้จัดกิจกรรม ทีมวิทยากรทุกท่าน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจให้เกิดกิจกรรมดีๆเช่นนี้  และ ขอขอบพระคุณ ผู้บริหารจากองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมการลงนาม เพื่อสร้างความร่วมมือ ในการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรในองค์กร ได้แก่

– ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๖

– นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดจิก

– คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล

– คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา,

– และ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการโรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ 

จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงกับการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายที่ลดลงของคนไทย โดยกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังที่ป้องกันได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชน โดยการส่งเสริมการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ ผ่านโครงการก้าวท้าใจ โดยนำเทคโนโลยีมาเพิ่มการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดความรอบรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของก้าวท้าใจคือ ส่งผลออกกำลังกายได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีการประเมินค่าดัชนีมวลกาย การส่งผลการออกกำลังกายที่หลากหลาย การออกกำลังกายทุกครั้งจะเปลี่ยนเป็นแคลอรี่ เพื่อสะสมในรูปของแต้มสุขภาพเพื่อนำไปแลกของรางวัลต่างๆ กระผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมเป็นสมาชิก ก้าวท้าใจ Season 4 และหวังไว้อย่างยิ่งว่า หน่วยงานของเราจะร่วมมือกันขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพ และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้แก่บุคลากรและเครือข่าย สู่การมี สุขภาวะที่ดีต่อไป

ด้านแพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมากล่าวว่าวันนี้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “พิชิต 100 วัน 100 แต้มสุขภาพ” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่บุคลากรภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยการสนับสนุนและส่งเสริมการออกกำลังกาย พร้อมกับการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ไม่ให้เกิดโรคที่สามารถป้องกันได้จากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์  ด้วยการสะสมแต้มสุขภาพแลกของรางวัล จากการออกกำลังกาย และสร้างความรอบรู้ ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ก้าวท้าใจ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม2565 ในวันนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัว ก้าวท้าใจ Season 4 จำนวน 80 คน ทั้งนี้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ตามโครงการ “ก้าวท้าใจ Season 4 วิถีถัดไป”, การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ผ่านแอปพลิเคชั่น H4U รวมถึงการออกกำลังกายในแบบวิถีถัดไป 

 พิธีเปิดตัวกิจกรรม ก้าวท้าใจ Season 4 จังหวัดนครราชสีมาในวันนี้     สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในหน่วยงานเครือข่าย ภายใต้แนวทาง “การสร้างเสริมสุขภาพ ในองค์กร” โดยมีเครือข่ายที่ให้เกียรติเข้าร่วมลงนามเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรในองค์กร ดังนี้

 1.ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6       

2.องค์การบริหารส่วนตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน                                                 

  3.คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา                                               

4.คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล                                                    

5.โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์

ผลกระทบโควิดคนไทยหันมาเที่ยว แบบกางเต็นท์แทนการพักโรงแรม

ประเทศไทย – ผลกระทบโควิด คนไทยหันมาเที่ยวแบบกางเต็นท์แทนการพักโรงแรม

ประเทศไทยมีการประกาศล็อกดาวน์ไปแล้วทั้งสิ้น 11 เดือน ทำให้ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวพุ่งสูง ขณะที่เดียวกัน นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจกับการพักแรมแบบกางเต็นท์มากขึ้น จนทำให้มีลานกางเต็นท์แห่งใหม่ผุดขึ้นกว่า 500 แห่ง ในรัศมี 150 กิโลเมตร รอบกรุงเทพฯ ภายในปีเดียว เจ้าของลานกางเต็นท์ อิงกะปิง จ.กำแพงเพชรระบุว่า ลานกางเต็นท์กลายมาเป็นที่นิยมอย่างมากหลังจากสถานการณ์โควิด ขณะที่ บรรดานักท่องเที่ยวเผยว่า การเที่ยวแบบกางเต็นท์สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากการพักตามห้องพักของโรงแรม และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับตนที่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวนับตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด

ธวัชชัย ทวิติยกุล – นักท่องเที่ยว บอกว่า “เราอยู่กับเมืองป่าคอนกรีตมากๆ ไม่ไหว มันเครียดมาก เราก็ออกบ้าง เอาชีวิตธรรมชาติบ้าง มันสดชื่นดี เจอสถานที่ดีๆ เราก็ไปพักที่นั่น เวลานั่นเราก็ซื้อกับข้าวไปทำกินเองไปอะไร ก็ครอบครัวเราก็อยู่อิสระ”

ณัฐชน คูณรักษา – นักท่องเที่ยว บอกนักข่าวA24ว่า
“ชอบบรรยากาศครับผม ช่วงหน้าหนาวนี่บรรยากาศจะดี ลมเย็น แล้วก็อุณหภูมิลดต่ำ เหมาะแก่การกางเต็นท์เพราะว่าไม่ร้อนเวลานอนครับ แล้วก็ได้ชมสัตว์ป่าด้วย พาลูกครอบครัวมาเที่ยวครับ ยิ่งช่วงหน้าหนาวนี่เดือนนึงประมาณ 4 5 ครั้งครับ ยิ่งช่วงปีใหม่ด้วย ไม่ไปเที่ยวไหนเลย กางเต็นท์”

สุพรรษา พวงมณี – นักท่องเที่ยว บอกว่า “เพราะมันเป็นหน้าหนาวค่ะ เป็นอากาศดี เรามากางเต็นท์มันได้อีกฟีลนึงที่ต่างจากที่เราไปพักห้องพักมันพักที่ไหนก็ได้ค่ะ สำหรับหนูมันคือการรีแลกซ์ เพราะว่าหนูเพิ่งจบมาใช่มั้ย เราก็เหมือนกับเพิ่งได้เที่ยวตอนที่ใกล้จะจบ แล้วก็โควิด ก็เลยไม่ค่อยได้เที่ยวเท่าไหร่”

ชาญบูรณ์ แดงศิริ – เจ้าของลานกางเต็นท์ อิงกะปิง โฮมสเตย์ Chanboon Daengsiri บอกว่า “ก็ตอนนี้เนี่ย คือต้องบอกว่าด้วยบรรยากาศและก็ช่วงเวลาเนี่ย มันทำให้ทุกคนมีความต้องการที่อยากจะออกมาท่องเที่ยว ก็โควิดนี่แหละที่มันทำให้ทุกคนวิ่งหาธรรมชาติ จริงๆ ตอนนี้นะครับ พอเราทำลาน พอให้เขาเหมาลานได้ด้วยเนี่ย ก็กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจอง เหมาลานเลย”

ที่มา A24 News Ageny

เดินหน้ามาตรการปลอดภัยในการป้องกันโรคโควิด-19

รองอธิบดีกรมอนามัย  มั่นใจ 4 จว. อีสานล่าง พร้อมเปิดเมือง 1 ธค นี้ เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการปลอดภัยในการป้องกันโรคโควิด-19

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564  ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จัดงาน “ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนมาตรการปลอดภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อการเปิดบ้านเปิดเมือง นครชัยบุรินทร์” โดยมีนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธาน  นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 กล่าวรายงาน  ร่วมด้วย นายกุศล เชื่อมกลาง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ,ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ,ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ,ท่องเที่ยวและกีฬา ,ศึกษาธิการจังหวัด ,อุตสาหกรรมจังหวัด ,วัฒนธรรมจังหวัด,พาณิชย์จังหวัด ,ขนส่งจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆเข้าร่วม    ณ   โรงแรมแคนทารี จังหวัดนครราชสีมา

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่า  จากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ เกิดภาวะชะลอตัว อาทิ ทางเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา  การท่องเที่ยว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเมือง ตามนโยบายรัฐบาล วันที่ 1 ธค.64 นี้ และเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ประชาชน ในเขตนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และบุรีรัมย์  มีความมั่นใจ ปลอดภัย ไร้โควิด ตามมาตรการแนวทางปฏิบัติ COVID Free Setting 3ด้าน ได้แก่ 1.COVID Free Enviroment ด้านสิ่งแวดล้อมและสถานที่  2.COVID Free Personnel ด้านผู้ให้บริการ  3.COVID Free Customer ด้านประชาชน ผู้รับบริการ เพื่อป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม  จึงเป็นที่มาที่เครือข่าย หลายภาคส่วน จับมือกันร่วมขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจสำหรับผู้รับบริการ ในด้านสถานประกอบการ รวมถึงสถานศึกษา ในเรื่อง Sandbox Safety Zone in school ควบคู่กับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุล ระหว่างมิติสาธารณสุขกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษา และการท่องเที่ยวอีกด้วย

ตำรวจภูธรภาค 3 แถลงข่าวการจับกุมยาเสพติดของกลาง ยาบ้า 2 ล้านเม็ด ไอซ์ 60 กก. อี 9,000 เม็ด

ตำรวจภูธรภาค ๓ โดย พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย รอง ผบช.ภ.3 (หน.กม) /รับผิดชอบ ศอ.ปส.(ยาเสพติด), พล.ต.ต.ภาณุ บุรณศิริ รอง ผบช.ภ.3 (หน.สส) และ นายณรงค์ วรหาญ ผอ.สำนักงาน ปปส.ภาค ๓ ,นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พล.ต.ต.พรชัย นลวชัย ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ได้สั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัด เร่งรัดสืบสวนจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ระดมกวาดล้างยาเสพติดในทุกมิติ การสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดนและพื้นที่ชั้นใน และดำเนินการปิดล้อมตรวจค้น และการทำลายเครือข่ายตัดวงจรยาเสพติดทุกระดับ ดำเนินการสืบสวนจับกุม ขยายผล เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ชูสวัสดิ์ จันทร์โรจนกิจ ผบก.สส.ภ.๓, พ.ต.อ.สมบัติ หงษ์ทอง, พ.ต.อ.ชลาสินธุ์ ชลาลัย, พ.ต.อ.เดชพล เปรมศิริ รอง ผบก.สส.ภ.๓ ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ยุทธพงษ์ รอดนวล ผกก.สืบสวน๑ บก.สส.ภ.๓, พ.ต.ท.ภูมิ ทองโพธิ์ รอง ผกก.สืบสวน ๑ บก.อก.ภ.3 พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สืบสวน ๑ บก.สส.ภ.๓

ร่วมกันจับกุมเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญ จำนวน 1 ราย ผู้ต้องหา 2 คน ดังนี้
๑) นางประการ หรือ เตี้ย ช่วยแสง อายุ๔๑ ปี ภูมิลำเนา อ.บ้านผือ จว.อุดรธานี
๒) ด.ช.ป้อม (นามสมมติ) อายุ ๑๔ ปี ภูมิลำเนา อ.โขงเจียม จว.อุบลราชธานี
พร้อมด้วยของกลาง
๑) ยาบ้า บรรจุใส่ถุง รวมเป็นมัด ในกระสอบพลาสติก สีขาว จำนวน ๕ กระสอบ รวมจำนวนประมาณ ๑,๙๘๐,๐๐๐ เม็ด
๒) ยาอี ( Ecstasy) ชนิดเม็ดสีส้ม ปั้มรูปอุ้งตีนหมี จำนวนประมาณ ๙,๐๐๐ เม็ด
๓) สารไอซ์ บรรจุในถุงใส่ชาสีเขียวลายผลไม้ จำนวน ๖๐ ถุง น้ำหนักรวมประมาณ ๖๐ กิโลกรัม
๔) รถยนต์กระบะ ยี่ห้อฟอร์ด เรนเจอร์ สีเทา หมายเลขทะเบียน ผธ ๔๔๓๐ อุบลราชธานี จำนวน ๑ คัน
๕) โทรศัพท์มือถือ จำนวน ๒ เครื่อง

โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า สารไอซ์และยาอี) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ (ยาบ้า สารไอซ์ และยาอี) โดยผิดกฎหมาย”
สถานที่เกิดเหตุ บริเวณจุดกลับรถหน้าร้านธงฟ้ายายฉาตาคิด ถนนมิตรภาพ (ขาขึ้น) ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จว.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๐๖.๒๐ น.
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้สืบสวนทราบว่ามีเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด จะนำยาเสพติดข้ามฝั่งโขงมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลำเลียงเข้าสู่กรุงเทพฯ และกระจายยาเสพติดไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยจะลำเลียงผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในคืนวันที่ ๓ ตุลาคม 2564 จึงได้นำกำลังเฝ้าจุด และวางแผนเข้าจับกุม ต่อมาสามารถตรวจยึดยาเสพติดได้ที่บริเวณปากซอยไม่มีชื่อริมถนนมิตรภาพ (ขาล่อง) ฝั่งตรงข้ามเยื้องวัดใหม่บ้านดอน ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จว.นครราชสีมา ส่วนผู้ต้องหาทั้งสองได้ขับรถหลบหนีในขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม และสามารถติดตามจับกุมตัวได้บริเวณจุดกลับรถหน้าร้านธงฟ้ายายฉาตาคิด ถนนมิตรภาพ (ขาขึ้น) ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จว.นครราชสีมา และได้ทำการซักถามขยายผลรับว่าได้รับการว่าจ้างมาจากนายสนุ๊ก (ไม่ทราบชื่อจริง) ให้เป็นคนขับรถนำทางทีมขนยาเสพติด ในราคาเที่ยวละ ๖๐,๐๐๐ บาท โดย นางประการฯ เป็นคนขับ ส่วน ด.ช.ป้อม หลานชาย เป็นคนช่วยดูทาง และเป็นผู้ขานตัวเลขหลักกิโลเมตร เพื่อเช็คระยะห่างระหว่างรถนำกับรถที่ขนยาเสพติด ขณะขับรถนำรถขนยาเสพติด สังเกตเห็นการติดตามของเจ้าหน้าที่ จึงให้ทีมขนหลบเข้าซอยทิ้งของไว้ เพื่อขนถ่ายย้ายของเมื่อปลอดภัย เมื่อเข้าใจว่าปลอดภัยแล้วจึงขับรถเข้ามาตรวจสอบย้ายของ จึงถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจพบและจับกุมตัวได้ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.โพธิ์กลาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และชุดจับกุมจะได้ทำการสืบสวนขยายผลถึงเครือข่ายผู้ค้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

กองทัพภาคที่ 2 จัดพิธีรับ – ส่งหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 2

กองทัพภาคที่ 2 จัดพิธีรับ – ส่งหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 2 ระหว่าง พลเอก ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม รองเสนาธิการทหาร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 กับ พลโท สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 ท่านใหม่ โดยได้ลงนามในเอกสารรับ-ส่งหน้าที่ฯ ณ ห้องประชุม 1 อาคารกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2
.
จากนั้นได้กระทำพิธีรับ – ส่งหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 2 ณ ลานหน้าสโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง พลเอก ธเนศฯ ได้กล่าวมอบหน้าที่และการบังคับบัญชา ส่งมอบธงประจำหน่วยให้กับ พลโท สวราชย์ฯ โดยมีหมู่ธงเกียรติยศ จากหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 2 จำนวน 81 หมู่ธง และคณะข้าราชการกองทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วยสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองทัพภาคที่ 2 ร่วมในพิธีฯ
.
พลเอก ธเนศฯ รองเสนาธิการทหาร กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารของชาติ นับเป็นเกียรติ และความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต ที่ได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาของการทำงานรับใช้ประเทศชาติ และดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 มีความมุ่งมั่นในการทำให้กองทัพภาคที่ 2 มีความมั่นคง เข้มแข็ง มีเอกภาพ สามารถหยัดยืนอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเป็นสถาบันหลัก ที่พร้อมดูแลความมั่นคงปลอดภัยและแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติตลอดจนเป็นที่พึ่งพาของพี่น้องประชาชน ในทุกๆ สถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพากองทัพภาคที่ 2 ไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อรักษาและเสริมสร้าง รักษาผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนจะปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา กำกับดูแล กำลังพลให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต มีความรักสามัคคี ภายใต้จิตสำนึกและอุดมการณ์ของความเป็นทหารอาชีพ อย่างเต็มความสามารถ
.
พลโท สวราชย์ฯ แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า พร้อมที่จะปฏิบัติราชการในตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 อย่างเต็มขีดความสามารถ และพร้อมที่จะปฏิบัติงานร่วมกับเพื่อนทหารทุกนายอย่างจริงจัง และจริงใจ เพื่อให้ กองทัพภาคที่ 2 เป็นหน่วยที่มีศักยภาพ ในการปฏิบัติภารกิจทุกรูปแบบ ให้ปรากฏผลสัมฤทธิ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกองทัพ และประเทศชาติต่อไป

ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค มอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

วันนี้(4 ต.ค.64) ที่หอประชุมโรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ประชุมและติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและรายงานสถานการณ์ ทั้งนี้ องคมนตรี เชิญพระบรมราโชบายในการป้องกันและแก้ไขการเกิดภัยธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวในที่ประชุม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำไปแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 4,000 ถุง ไปมอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบในโอกาสนี้ องคมนตรี เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย และครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยและได้รับผลกระทบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ให้รับทราบ ในการนี้ องคมนตรี ลงพื้นที่เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และได้รับผลกระทบจากอุทุกภัย ในพื้นที่อำเภอโนนไทย จำนวน 4 ครอบครัว ตลอดจนพูดคุยให้กำลังใจ ราษฎรต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้
ทั้งนี้จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 19 อำเภอ 80 ตำบล 344 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 15,250 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งจังหวัดได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันยังคงเหลือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 9 อำเภอ 37 ตำบล 174 หมู่บ้าน 5 ชุมชน
cr:สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา

ร่วมใจสู้น้ำท่วม “พินิจด้วยรัก พิทักษ์ด้วยใจช่วยชัยภูมิ”

“ ร่วมใจสู้ ภัยน้ำท่วม ช่วยสถานพินิจฯ ชัยภูมิ เพื่อเด็กและเยาวชน ”
จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชัยภูมิ “ อ่วมรอบ 50 ปี เจอวิกฤตหนักสุด ”
จากพื้นที่รับอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมครั้งใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 ถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายบ้านเรือนประชาชนและส่วนราชการชัยภูมิเดิอดร้อนหนักอันรวมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิเป็นหน่วยงานช่วยเหลือ,คุ้มครองสวัสดิ์ภาพเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้

วันที่ 28 กันยายน 2564 ดร.รัตนะ วรบัณฑิต ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 3 พร้อม นาย คมกฤษณ์ แสงจันทร์ ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครราชสีมา และ นายฐิติรรัตน์ พงษ์พุทธรักษ์ รองประธานสงเคราะห์เด็กและเยาวชน สำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา และ เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ
นครราชสีมา ร่วมมอบสิ่งของกำลังใจโดย นางสาว สุมณฑา เกตุมณี ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิต้อนรับพร้อมคณะเยี่ยมชมดูสถานที่และการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมภายในหน่วยงานด้านต่างๆ อาทิ ห้องพิจารณาคดี , แก้มลิงพื้นที่สถานพินิจเด็กและเยาวชนที่กำกับดูแล พร้อมคณะนำสิ่งของอาหารแห้ง , ข้าวสาร , เวชภัณฑ์ยา และ ผลไม้ต่างๆ

ดร. รัตนะ วรบัณฑิต กล่าวการมาเยี่ยมครั้งนี้ด้วยความรู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนของน้องๆเสมือนญาติพี่น้องครอบครัวเดียวกันจึงนำความช่วยเหลือเบื้องต้นมาดูแลความเป็นอยู่ช่วยเหลือกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและกล่าวแนะนำการทำงานสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมยินดีช่วยเหลือคณะเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ด้วยรักและห่วงใย เราจะสู้วิกฤตนี้ผ่านไปด้วยกันแม้จะเจอวิกฤตหนัก 2 ด้าน สถานการณ์ติดเชื้อโควิด19 และภัยพิบัติทางน้ำก็ตาม

การประชุมเสวนากำหนดแนวทางการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการป้องกันอุบัติเหตุในการจราจร และพิธีลงความร่วมมือ (IMOU)

การประชุมเสวนากำหนดแนวทางการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการป้องกันอุบัติเหตุในการจราจร และพิธีลงความร่วมมือ IMOU)ตาม “โครงการบูรณาการความร่วมมีอระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมากับ ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย Safety Zoneในจังหวัดนครราชสีมา”
วันจันทร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.ณ ห้องประชุมลำตะคอง ขั้น3 โรงแรมแคนทารี ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
โดย ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศลายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ท่าน พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา สบ ๙ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภ.3.และท่านผู้มีเกียรติ ทุกท่าน

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา /กับตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ในวันนี้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ มีศักยภาพในทุกๆ ด้าน ครบทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและภูมิอากาศที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นภารกิจหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน/ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้เล็งเห็นความสำคัญในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งเศรษฐกิจจะพัฒนาได้ต้องเชื่อมั่นในความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
วัตถุประสงค์ของโครงการ
๑.เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล /นโยบายของจังหวัดนครราชสีมา นโยบายของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ และนโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
๒.เพื่อบูรณาการการทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนทั่วไป / และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา โดยถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ
๓.เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบรักษาความปลอดภัย ให้มีความพร้อมสามารถป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ปัญหาทางสังคม ที่อาจจะเกิดขึ้น /ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและมีมาตรฐานในระดับสากล
๔.เพื่อสร้างความตระหนักด้านการรักษาความปลอดภัย ในองค์กรพร้อมเตรียมรับการเข้าสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐ / โดยสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดงบประมาณ ดำเนินการ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครอบคลุม ๑๐ อำเภอ
นำร่อง ได้แก่

(๑) อำเภอปากช่อง

(๒) อำเภอด่านขุนทด

(๓) อำเภอสีคิ้ว
(๔) อำเภอสูงเนิน

(๕) อำเภอเมือง
(๖) อำเภอโนนสูง
(๗) อำเภอคง
(๘) อำเภอโนนแดง

(๙) อำเภอสีดา
(๑๐) อำเภอบัวลาย
ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และ พ.ศ.๒๕๖๖จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ครอบคลุมพื้นที่ ๓๒ อำเภอ รวม ๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ดังนั้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยการลดโอกาส ลดปัจจัยเสี่ยง และความล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมในเขตพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างเป็นรูปธรรม/และบังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ตานโยบายรัฐบาล และนโยบายจังหวัดนครราชสีมา /ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดทำโครงการบูรณาการความร่วมมือ/ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กับตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัย(Safety Zone) ในจังหวัดนครราชสีมา โดยแบ่งภารกิจในการดำเนินงาน/ ตามความถนัดและเหมาะสมอีกด้วย

ฤกษ์ดีวันมงคล วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ทำพิธีบุญตั้งศาลเทพชัยมงคลใหม่ และทำบุญสำนักงานประจำปี

ฤกษ์ดีวันมงคล วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ทำพิธีบุญตั้งศาลเทพชัยมงคลใหม่ และทำบุญสำนักงานประจำปี
วันที่ 24 กันยายน 2564 ณ. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดบึงพระอารามหลวง ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ นายคุณไชยนันท์ แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ประธานในพิธีร่วมกับ นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา , คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา พร้อม เจ้าหน้าที่ ข้าราชการวัฒนธรรมจังหวัดร่วมผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมพิธีทำบุญตั้งศาลพระภูมิชัยมงคล , ศาลตายายใหม่ทดแทนศาลเดิมที่ชำรุด และจัดทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ งานทำบุญสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ภายในพิธีได้มีพระสงฆ์ 9 รูป สวดพระพุทธมนต์

พิธีถวายสังฆทาน ทำบุญเลี้ยงพระใหญ่ และรดน้ำมนต์ให้พรแก่ผู้มาร่วมงานกิจกรรมครั้งนี้ ได้ทำบุญเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่บุคลากรที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมชาติ
โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมีภาระกิจอันสำคัญเพื่อปลูกสร้างจิตสํานึกความเป็นไทยสร้างค่านิยมและวิถีชีวิตที่ดีงาม ,ส่งเสริมสนับสนุนการนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และ ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ เพื่อนำไทยสู่สากล เป็นหน่วยงานที่สำคัญของชาติ ในสังกัด กระทรวงวัฒนธรรม